ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่พัฒนาความฉลาดลูก 7 วิธี
08 ส.ค. 2562

กรมสุขภาพจิตแนะ 7 วิธี สำหรับพ่อแม่ในการพัฒนาความฉลาดให้ลูก คือ ฉลาดคิด ฉลาดสื่อสาร ฉลาดทำ ฉลาดสัมพันธ์ ฉลาดอารมณ์ ฉลาดเข้าใจ และฉลาดปรับตัว ต่อยอดการเป็นคนดี เก่ง มีความสุข เป็นของขวัญวันแม่

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่จะพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อม มีความฉลาดทั้งไอคิวและอีคิว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่เป็นสุขนั้น มาจากการเลี้ยงดูที่ดีของพ่อแม่เป็นหลัก การให้ความรักดูแลเอาใจใส่ การใช้เวลาร่วมกัน สามารถเสริมสร้างสายใยความผูกพันในครอบครัว จะทำให้เกิดความใกล้ชิดกันระหว่างพ่อแม่และลูก โดยกรมสุขภาพจิตขอแนะ 7 วิธีง่ายๆ ให้พ่อแม่นำไปใช้ในการพัฒนาความฉลาดของลูก ช่วยต่อยอดให้ลูกเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข มอบเป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับแม่ทุกคน คือ      

1. ฉลาดคิด ฝึกเด็กให้รู้จักคิดในแง่บวก คิดในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์ สามารถควบคุมความคิดของตนเองได้ รู้จักฝึกคิดในหลากหลายแง่มุม หลากหลายวิธี และเห็นผลที่จะตามมา 2. ฉลาดสื่อสาร ฝึกการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ฝึกให้เด็กรู้จักเลือกที่จะพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ มีความปรารถนาดี และเจตนาดีต่อบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงคำพูดในเชิงลบและไม่สร้างสรรค์ ตลอดจนการเป็นผู้ฟังที่ดี โดยการรับฟังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้ เพราะจะทำให้ได้รับความรู้และข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ

                3. ฉลาดทำ พ่อแม่ต้องมอบหมายงานให้เด็กทำ เพื่อฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ เช่น ทำงานบ้าน เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนตั้งเป้าหมายการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งเป็นการสร้างความขยัน พากเพียร อดทน มีวินัยในการควบคุมตนเอง และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง 4. ฉลาดสัมพันธ์ ฝึกให้เด็กสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่น โดยผ่านกระบวนการเล่น ทั้งเล่นกับเพื่อนหรือพ่อแม่เล่นกับลูก เพื่อให้เด็กเรียนรู้กฎกติกา ได้รับความสนุกสนาน แบ่งปันช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการให้และรับแสดงความชื่นชมให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เห็นถึงคุณค่าของการรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

5. ฉลาดอารมณ์ ฝึกให้เด็กรู้เท่าทันถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมทั้งสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ เช่น การจัดการกับความโกรธ ความไม่พอใจได้ โดยมีสติรู้ตัวและสามารถควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับบุคคล เวลา และสถานที่ ฝึกผ่อนคลายความเครียด อารมณ์ดี รวมทั้งมีพื้นฐานด้านจิตใจที่มั่นคงและเข้มแข็ง 6. ฉลาดเข้าใจ ฝึกให้เด็กมีทักษะในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น เด็กที่มีความเข้าใจในตนเอง มักแสดงความสนใจสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของตนเอง มีการรับรู้ตนเองตามความเป็นจริง รู้ว่าตนเองมีความสามารถและถนัดด้านไหน การจูงใจให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง จะนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างแท้จริง

และ 7. ฉลาดปรับตัว ฝึกให้เด็กสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ มีวิธีการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม สามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง จะทำให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และหาทางเลือกที่เหมาะสม มีการตัดสินใจที่ดี มีความยืดหยุ่น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...