หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยือนสนามแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 ให้กำลังใจเยาวชนไทย 25 คน ใน 23 สาขาที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ที่ Kazan Expo สหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 24 -25 สิงหาคม 2562 โดยได้ เยี่ยมชมการแข่งขัน ในโซน A และ C ประกอบด้วยสาขา เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) เสริมความงาม แต่งผม บริการอาหารและเครื่องดื่ม จัดดอกไม้ และหุ่นยนต์เคลื่อนที่
รมว.แรงงาน กล่าวว่า การส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันทักษะฝีมือในเวทีระดับนานาชาติ ไม่เพียงแต่เป็นการพิสูจน์ความสามารถของเยาวชนและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย แต่ยังเป็นการเรียนรู้มาตรฐานการปฏิบัติงานในระดับโลก เพื่อนำมาพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานของไทย ในรูปแบบของการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่าง ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ Competency ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในแต่ละอาชีพได้จากแบบแข่งขันของ WorldSkills ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม พัฒนารูปแบบการฝึกอบรม ตลอดจนการจัดทำหรือปรับปรุงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานอีกด้วย
รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า การแข่งขัน WorldSkills Kazan 2019 ในครั้งนี้ สะท้อนศักยภาพทักษะฝีมือของเยาวชนไทยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลลัพธ์ทางการศึกษาของเยาวชน เนื่องจากเป็นการจำลองการปฏิบัติงานจริงในสาขาอาชีพต่างๆ ผู้เข้าแข่งขันนอกจากจะต้องมีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่ทันต่อเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงต้องสามารถ สร้างสรรค์แนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย หากเยาวชนสามารถทำผลงานได้ดี นั่นหมายความว่าหลักสูตรและวิธีดำเนินการสอนและฝึกอบรมด้านอาชีพของประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะมาตรฐานของ WorldSkills เป็นมาตรฐานที่อิงกับการปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม
ด้านนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเสริมว่า การแข่งขันยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมด้านอาชีพ การจัดการแข่งขันครั้งนี้ ยังมีการจัดแข่งขันสาขาสาธิตในกลุ่มอาชีพในอนาคต เช่น Drone Operating, Virtual and Augmented Reality, Digital Farming, Robotic Welding, Machine Learning and Big Data เป็นต้น กระทรวงแรงงานได้วางแผนในการจัดส่งเยาวชนเข้าแข่งขันในสาขาใหม่ๆ เช่น สาขาการออกแบบเกมสามมิติ (3D Digital Game Art), สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ, สาขาผู้ขนส่งสินค้า (Freight Forwarding), สาขาซ่อมบำรุงตัวถังรถยนต์ (Autobody Repair) ซึ่งสอดรับกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยในปีนี้ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสังเกตการณ์การแข่งขันอีกด้วย
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวด้วยว่า การแข่งขัน WorldSkills เป็นการแข่งขันทักษะฝีมือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีสมาชิกกว่า 80 ประเทศ มีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,300 คน ดังนั้นหากเยาวชนไทยสามารถทำผลงานได้เป็นที่ยอมรับในเวทีนี้ จะเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต และความพร้อมของประเทศไทยในการมุ่งสู่เศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าสนใจด้านลงทุนให้แก่ประเทศไทยมากขึ้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งรับผิดชอบในการเก็บตัวฝึกซ้อมและคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน ได้สร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบคณะอนุกรรมการในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อถอดแบบแข่งขันของ WorldSkills ออกมาเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน และกำหนดแผนฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น เพื่อให้เยาวชนสามารถปฏิบัติงานให้ดีกว่ามาตรฐานดังกล่าวให้ได้
ทั้งนี้ นอกจากจะสร้างเยาวชนที่มีทักษะเป็นเลิศแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังดำเนินการต่อยอดนำองค์ความรู้จากการเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีนานาชาติ มาพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่แรงงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงาน มีโอกาสพัฒนาฝีมือของตนเองให้สูงขึ้นและทันต่อเทคโนโลยี เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศและตัวแรงงานเอง เมื่อแรงงานมีฝีมือและคุณภาพ สถานประกอบกิจการจะสามารถลดต้นทุน ลดของเสียในการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าและการส่งออกได้ รวมไปถึงด้านสังคม แรงงานได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือซึ่งจะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น