สทนช. ลงพื้นที่ติดตามแนวทางการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เน้นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืนขีดเส้นศึกษาแล้วเสร็จภายใน ก.ย.63
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ว่า ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทําแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area based) ระยะ 5 ปี
(ปี 2561-2565) และสร้างการรับรู้กับทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สทนช.ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและอยู่ติดแม่น้ำโขง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร มาดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อศึกษาหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการศึกษาดังกล่าวจะดำเนินการศึกษาอย่างรอบด้านทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของแต่ละพื้นที่ โดยจะนำข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสมดุลน้ำด้านชลศาสตร์อย่างครอบคลุม อาทิ ทำการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์จากโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น อีกทั้งจะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมระดับโครงการ เพื่อการแก้ปัญหาด้านบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง การส่งเสริมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีระยะเวลาการศึกษา 540 วัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 22 มีนาคม 2562 และจะแล้วเสร็จภายใน 11 กันยายน 2563 ทั้งนี้จะต้องจัดลำดับความเร่งด่วนและสำคัญของโครงการ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกขั้นตอนของการศึกษาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ประกอบด้วย การมีประตูระบายน้ำกั้นน้ำโขงเอ่อย้อนกลับเข้ามาในลำน้ำ การทำอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง และคลองผันน้ำหลาก และแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ ฝายกักน้ำในลำน้ำ สถานีสูบน้ำและระบบชลประทาน สถานีสูบน้ำจากแม่น้ำโขงสู่ลำน้ำธรรมชาติในฤดูแล้งและช่วงฝนทิ้งช่วง
“เมื่อการศึกษาโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร แล้วเสร็จ สทนช.จะนำแผนหลักในการบริหารจัดการน้ำ และเป็นแนวทางการสร้าง
ความมั่นคงด้านน้ำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด พบว่า จังหวัดหนองคาย มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,704 มม./ปี ปริมาณน้ำท่า 1,107 ล้านลบ.ม./ปี ความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 53.68 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร1,215 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 13.7 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันหนองคายมีแหล่งกักเก็บน้ำ 88.85 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 485,540 ไร่ ในอนาคตมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 24.92 ล้าน ลบ.ม มีพื้นที่รับประโยชน์ 160,684 ไร่ มีพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดหนองคาย ครอบคลุมพื้นที่ 2 อําเภอ 13 ตําบล รวมพื้นที่ 277,133 ไร่ ที่ผ่านมาจ.หนองคาย มักประสบปัญหาน้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ เมืองหนองคาย และโพนพิสัย พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรวม 226,807 ไร่ คิดเป็น 11.11% ของพื้นที่จังหวัด ส่วนพื้นที่เสี่ยงแล้งอยู่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สระใคร เมืองหนองคาย โพนพิสัย และเฝ้าไร่ รวม 534,138 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.16 ของพื้นที่จังหวัด
จังหวัดนครพนม มีปริมาณน้ำฝน 1,860 มม./ปี มีปริมาณน้ำท่า 3,035 ล้านลบ.ม./ปี ความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 72.5 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 912 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 13.7 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันจังหวัดนครพนม มีแหล่งกักเก็บน้ำ 106.80 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 397,974 ไร่ ในอนาคตมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 34.59 ล้าน ลบ.ม มีพื้นที่รับประโยชน์ 544,566 ไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ครอบคลุมพื้นที่ 2 อําเภอ
13 ตําบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 439,344.14 ไร่ โดยปัญหาน้ำท่วมหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสงคราม นาหว้า และนาทม
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรวม 475,691 ไร่ คิดเป็น 13.62% ของพื้นที่จังหวัด พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งอยู่ในทุกอำเภอ มีพื้นที่รวมกัน 1,512,455 ไร่ คิดเป็น 42.30% ของพื้นที่จังหวัด)
จังหวัดมุกดาหาร มีปริมาณน้ำฝน 1,460 มม./ปี มีปริมาณน้ำท่า 2,283 ล้านลบ.ม./ปี ความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 38.3 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,444 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 8.6 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารมีแหล่งกักเก็บน้ำ 103.48 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 187,797 ไร่ ในอนาคตมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 39.31 ล้าน ลบ.ม มีพื้นที่รับประโยชน์ 157,376 ไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อําเภอ
ใน 11 ตําบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 345,686.59 ไร่ มีปัญหาน้ำท่วมเกือบทั้งหมดอยู่ในอำเภอเมืองมุกดาหาร พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรวม 75,601 ไร่คิดเป็น 2.96% ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ดงหลวง ดอนตาล เมืองมุกดาหาร และหนองสูง มีเนื้อที่รวมกัน 496,907 ไร่ คิดเป็น 19.43% ของพื้นที่จังหวัด