นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ปฎิบัติการชลบุรีของ บมจ.ปตท.(PTT) ว่า ได้มอบหมายให้ ปตท.จัดทำแผนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (HUB LNG) ในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือน เพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติต่อไป ซึ่งการดำเนินการจะมีปตท.เป็นองค์กรหลัก และอาจจะมีผู้นำเข้า LNG ได้มากกว่า 1 ราย โดยมีเป้าหมายนำพื้นฐานของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่งของประเทศมาต่อยอดสร้างเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้ ปัจจุบันไทยมีโครงสร้างทั้งระบบการผลิต การบริหารจัดการของอุตสาหกรรมก๊าซฯที่ดี และมีความมั่นคง รวมถึงยังเป็นผู้นำเข้า LNG ซึ่งเป็นทิศทางเชื้อเพลิงในอนาคตของโลกเข้ามาใช้ด้วย โดยมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างคลัง LNG เพียงพอที่จะรองรับการเป็นผู้นำ LNG ในภูมิภาค ซึ่งไทยต้องเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำ LNG ของภูมิภาค
"เมื่อได้แผนมาก็จะนำไปหารือเพื่อจัดทำเป็นนโยบายเสนอต่อกพช. ขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินการจะมีปตท.เป็นองค์กรหลัก และอาจมีผู้นำเข้ามากกว่า 1 ราย แต่รายละเอียดสัดส่วนจะเป็นอย่างไรยังไม่ได้กำหนด รอดูนโยบายว่าเป็นอย่างไร"นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท.มีความพร้อมที่จะดำเนินการเพราะอยู่ในอุตสาหกรรมมา 40 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีคลัง LNG ที่มีขีดความสามารถรับ-จ่ายก๊าซฯ 11.5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างคลัง LNG หนองแฟบ ซึ่งเป็นแห่งใหม่อีก 7.5 ล้านตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 65 เพิ่มขีดความสามารถรับ-จ่ายก๊าซฯได้ 19 ล้านตัน/ปี และในอนาคตจะสร้างคลังแห่งใหม่ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 อีกในอนาคตด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรองรับความต้องการใช้ LNG ได้ถึง 10-15 ปี โดยไม่จำเป็นต้องขยายเพิ่มเติมอีกในพื้นที่เดิม ส่วนการจัดตั้งคลัง LNG ลอยน้ำในรูปแบบ FSRU สำหรับพื้นที่ภาคใต้นั้น เห็นว่ายังมีความจำเป็น แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่อย่างไรในพื้นที่ดังกล่าวด้วย