หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต คอลร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต จากนี้จะต้องรอการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้การแบนสารเคมีมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม ศกนี้ ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย ครอบครอง จึงจำเป็นต้องจัดการสต็อกสารเคมีคงเหลือทั้ง 3 ชนิดที่มีอยู่ประมาณ 30,000 ตัน หากใช้วิธีเผาทำลายต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรรายงานสต็อกสารเคมี 3 ชนิดคงเหลือเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่า พาราควอต คงเหลือประมาณ 13,000 ตัน ไกลโฟเซต เหลือ 15,000 ตัน และคลอร์ไพรีฟอส เหลือประมาณ 17,000 ตัน รวมทั้ง 3 ชนิด มีสารเคมีทางการเกษตรรวมเกือบ 30,000 ตัน หากมีการนำวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดไปกำจัดจะต้องทำโดยวิธีเผาทำลายที่โรงงานกำจัดในอัตราตันละ 100,000 บาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยว่า ปริมาณสต็อกที่ระบุคือ สต็อกผู้นำเข้าและผู้ผลิต ไม่รวมกับสต็อกผู้กระจายสินค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สี่ปั๊ว ร้านเคมีเกษตรในพื้นที่ต่างๆ อีกกว่า 20,000 แห่ง คาดว่าเวลาที่เหลือผู้ประกอบการจะเร่งระบายสินค้า ทำให้มีสต็อกคงเหลือจริงเพื่อนำไปเผาทำลายมีไม่มาก
ส่วนสารทางเลือกขณะนี้สมาคมฯ ไม่ได้รับการประสานจากฝ่ายราชการเพื่อปรึกษาหารือแต่อย่างใด และยังไม่มีสารเคมีใดที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับยาฆ่าหญ้าที่ถูกแบน และที่น่ากังวลคือ เกษตรกรหลายคนยังไม่มีทางเลือก ผลผลิตอาจลดลงจากศัตรูพืชที่รบกวน และอาจต้องลดพื้นที่การเพาะปลูกลง ส่วนบริษัทสารเคมีส่วนใหญ่เชื่อว่าจะปรับตัวได้ เพราะแต่ละบริษัทจำหน่ายสินค้าสารเคมีหลายประเภท