(Oct 30) ปลดล็อกอุ้มอาลีบาบา สึนามิสินค้าจีนถล่มแน่-เปิดอ้าซ่าให้เวลา14วัน : เขตฟรีโซนอี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้ว ปลดล็อกพิธีการศุลกากร ขยายเวลาเสียภาษีนำสินค้าออกนอกเขตเป็น 14 วัน จากเดิม 1 วัน ประเดิมรองรับ "อาลีบาบา" ตั้งศูนย์กระจายสินค้าบุกอาเซียน ผู้ผลิตไทยหวั่นตายเรียบ เอื้อสินค้าจีนทะลัก จากที่นำเข้า 1.6 ล้านล้าน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 266 ง ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ได้เผยแพร่ประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีแล้ว โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้ลงนาม และให้ใช้บังคับตั้งแต่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป
ประกาศกรมศุลกากรฉบับใหม่นี้ กำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติโดยละเอียด ทั้งของผู้จัดตั้ง ผู้ประกอบการ และพีธีการศุลกากรสำหรับสินค้าที่ซื้อขายผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) ในเขตปลอดอากรกิจการอี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่อีอีซี มีข้อกำหนดทั้งสิ้น 73 ข้อ แบ่งเป็น 2 หมวด 18 ส่วน ครอบคลุมทั้งสินค้านำเข้ามาและสินค้าที่ส่งออกจำหน่ายทางอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรองรับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ระดับโลก ที่รัฐบาลเดินสายไปเชิญชวนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี อาทิ กลุ่มอาลีบาบา เป็นต้น
ทั้งนี้ มีสาระสำคัญหลายประการ อาทิ รับรองให้ใช้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งใบขนส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมติดตามการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง โดยใช้การระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เชื่อมกับระบบคอมพิวเตอร์ของ กรม และมีกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ในการผนึกหรือปลดล็อค
การวางเงื่อนไขให้ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร (ฟรีโซน)กิจการอี-คอมเมิร์ซในเขตอีอีซีดังกล่าว ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ไร่ อยู่ใน 3 จังหวัดเขตอีอีซี เป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ หรือขยายเวลาให้การนำสินค้าออกจากเขตฟรีโซนยื่นเสียภาษีศุลกากรจากเดิม 1 วันเป็น 14 วัน เนื่องจากการค้าอี-คอมเมิร์ซ มีอัตราการปฏิเสธรับสินค้าของผู้สั่งซื้อสูง หากตีกลับสินค้าคืนเข้าเขตฟรีโซนในกำหนดสามารถแจ้งยกเลิกรายการนั้นได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาลีบาบาที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจใช้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้า ในอาเซียน
อาลีบาบาพร้อมลุยปีหน้า
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า จากที่บริษัทได้ยื่นขอพัฒนาพื้นที่ 232 ไร่ ที่ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว โดยระยะแรกได้ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ในการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าให้กับกลุ่มอาลีบาที่เข้ามาเช่าใช้พื้นที่ 1.3 แสนตารางเมตร โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ไปตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา และกลุ่มอาลีบาบาได้ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่อีอีซีกำหนดไปแล้ว ซึ่งจะทำให้กลุ่มอาลีบาบา เข้ามาลงทุนติดตั้งระบบอัตโนมัติในคลังสินค้าดังกล่าว และเปิดดำเนินการต่อไปในปีหน้าได้
ขณะเดียวกันกลุ่มอาลีบาบาอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท เพื่อขอขยายพื้นที่เช่าอีกราว 7-8 หมื่นตารางเมตร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป หากได้ข้อยุติบริษัทจะลงทุนในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าอีกกว่า 1 พันล้านบาท และส่งมอบพื้นมที่ได้ภายในปี 2563
ดังนั้น ในเนื้อที่ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ศูนย์กระจายสินค้า จำนวน 3 อาคาร ขนาดพื้นที่รวม 1.49 แสนตารางเมตร และอาคารเขตปลอดอากรราว 4 หมื่นตารางเมตร และพื้นที่สำนักงานสำหรับผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสำหรับกรมศุลกากรประมาณ 5,187 ตารางเมตร รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1.94 แสนตารางเมตร หรือราว 120 ไร่ รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นประมาณ 13,490 ล้านบาท
ผู้ผลิตไทยหวั่นตายเรียบ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า ประกาศของกรมศุลกากรล่าสุดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอาลีบาบา เช่น กรณีลูกค้าส่งสินค้าคืน ซึ่งปกติมียอดการคืนสินค้าเฉลี่ยประมาณ 5% นั้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสีย นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมหาศาลมาพักไว้ที่อี-คอมเมิร์ซพาร์ก ของอาลีบาบา ซึ่งอยู่ในเขตฟรีเทรดโซน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ในมุมของผู้บริโภคนั้นได้ประโยชน์ คือได้สินค้าที่ราคาถูกลงแต่ในมุมของผู้ประกอบการในประเทศเอสเอ็มอี และโอท็อป นั้นได้รับผลกระทบแน่นอน โดยผู้ค้าสินค้าจีน จะนำเข้าสินค้าล็อตใหญ่มาพักไว้ที่อี-คอมเมิร์ซ พาร์ก ก่อนกระจายเป็นชิ้นๆไปถึงผู้บริโภคทางไปรษณีย์ ในราคาไม่เกิน 1,500 บาท โดยได้รับการยกเว้นอากรนำเข้า
สำหรับสินค้าจีนที่คนไทยนิยมสั่งซื้อออนไลน์ มีทั้งอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเสื้อผ้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือคลื่นสินค้าจากจีนเอาไว้ให้ดี
"ผู้ค้าสินค้าจีนจะสั่งสินค้าเป็นตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาพักในฟรีเทรดโซน 1 ตู้ 1,000 ชิ้น ก่อนกระจายขายไปยังผู้บริโภคทีละชิ้นในราคาไม่เกิน 1,500 บาท สินค้าจีนราคาถูกอยู่แล้ว ไม่เสียภาษีนำเข้าและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาก็จะถูกลงไปอีก ซึ่งผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้แน่นอน ประกอบกับจะต้องระวังคุณภาพของสินค้าที่นำเข้ามามีมาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนดด้วยหรือไม่"
รัฐตรวจเข้มคุณภาพ
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมอ.ได้เรียกผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า อาลีบาบา และช้อปปี้ เข้ามาหารือเพื่อแจ้งข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้านำเข้าที่ต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค หลังจากที่ผ่านมาเริ่มมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องปัญหาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 สมอ. จะดำเนินการลงนามร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยตรวจสอบทางอิเล็กทรอ นิกส์อีกช่องทางหนึ่ง โดยถือเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมาก
จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรในปี 2560 ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท ปี 2561 นำเข้า 1.62 ล้านล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 มีการนำเข้า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และเงินบาทที่แข็งค่า
Source: ฐานเศรษฐกิจ