พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ และการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้งเพื่อทําความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งยืนยันว่าน้ำอุปโภคบริโภคมีเพียงพอถึง ก.ค. 59 และขอความร่วมมือรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือนอย่างน้อย 20 %
สถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดปรากฎการณ์เอลนิโญ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการตั้งแต่ ต.ค. 58 ในรูปแบบคณะกรรมการอํานวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตแล้ง ปี 2558/59 โดยมีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันพบว่า มี 10 เขื่อนใหญ่ที่เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลําปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวง และ เขื่อนลําพระเพลิง โดยได้สั่งการทั้งการปรับแผนการส่งน้ำ การผันน้ำจากเขื่อนอื่นมาเติม และ การนําน้ำ Dead Storage มาใช้
ซึ่งการบริหารจัดการน้ำนั้นได้กำชับและเน้นย้ำให้ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุดในส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปี และนาปรังรอบแรกเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด เหลือแต่นาปรังรอบสอง จํานวน 0.35 ล้านไร่ ซึ่งมี โอกาสเสียหาย ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นปัจจุบันมีประปาสาขาที่เฝ้าระวัง จํานวน 25 สาขา แบ่งเป็นจ่ายน้ำเป็นเวลา/แบ่งโซนจ่ายน้ำ จํานวน 3 แห่ง ลดแรงดัน/ลดอัตราจ่าย 17 แห่ง และในพื้นที่ที่จะประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ 5 แห่ง มีมาตรการแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม การขุดเจาะบ่อบาดาลในภาพรวม ซึ่งตามแผน 6,922 บ่อ ดําเนินการแล้ว 2,687 บ่อ คงเหลือ 4,235 บ่อ การช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58 - 27 มี.ค. 59 แบ่งเป็นรถน้ำ รวม 546.07 ล้านลิตร ทางการสูบน้ำ 108.89 ล้าน ลบ.ม. การปฏิบัติการฝนหลวง โดยช่วงวันที่ 15 ก.พ. - 27 มี.ค. 59 ขึ้นบิน 24 วัน 250 เที่ยวบิน มีฝนตก 31 จังหวัด และเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 59 สภาพอากาศเอื้ออํานวยขึ้นบิน 42 เที่ยวบิน มีฝนตก 15 จังหวัด
ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 11 เม.ย. 59 มีแนวโน้มที่ฝนจะตกครอบคลุม ประเทศไทย (คาดว่าสถานการณ์ฝนจะเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ฝนมาเร็ว) สำหรับกรณีการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นกระทรวงเกษตรฯ ขอย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะห้ามประชาชนเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มากที่สุด ซึ่งอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีการส่งน้ำตามแผนการใช้น้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนเล่นน้ำกันพอประมาณและประหยัดน้ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด
ด้านอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(28 มี.ค. 59) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อีกประมาณ 2,446 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ในส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอใช้ก่อนฝนมา นั้น ขอเรียนว่าปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไว้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนการใช้น้ำร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคตด้วย