วันนี้ (9 ธันวาคม 2562) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชัน ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด "เดินหน้าล่าโกง" โดยมี นางสาวผ่องพรรณ กัลลประวิทย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA คณะผู้บริหาร และพนักงาน MEA ร่วมแสดงพลังเดินหน้าล่าโกง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง และปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต มุ่งยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) พร้อมกับผู้แทนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA เปิดเผยว่า งานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เป็นงานที่จัดขึ้น สืบเนื่องจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (The United Nations : UN) ประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti -Corruption) MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด "เดินหน้าล่าโกง" ขึ้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้สังคมและทุกภาคส่วนไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพที่ดี
ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา MEA ถือเป็นหน่วยงานที่ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เป็นมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติงานของพนักงาน MEA มาโดยตลอด โดยล่าสุด MEA ได้ดำเนินงานตามนโยบายคณะรัฐมนตรีที่ได้มีมติเห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยคัดเลือกโครงการที่เป็นภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงานที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ MEA ภาคเอกชนผู้เข้าร่วมการเสนอราคาหรือเสนองาน และผู้สังเกตการณ์ว่าจะไม่กระทำการใด ๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ MEA ยังมีศูนย์รับแจ้งเรื่องราวการทุจริตภายในหน่วยงาน แสดงให้ถึงการตอบสนองต่อนโยบาย "เดินหน้าล่าโกง" ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนสนับสนุนให้ MEA ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะหน่วยงานที่มีการดำเนินงานโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และความโปร่งใสจนเป็นที่ประจักษ์ ดังจะเห็นได้จากการได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ประจำปี พ.ศ. 2562 ได้คะแนนสูงถึง 89.87 คะแนน ซึ่งเป็นระดับคะแนน A แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานด้วยความโปร่งใสได้เป็นอย่างดี