นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช. แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. มีความเห็นว่าในวันนี้ใครจะมีความเห็นอย่างไร จะวิจารณ์อะไรก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปิดงานไปแล้ว และเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีบทบัญญัติมากมายถึง 279 มาตรา จะร่างให้ดีอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ถูกใจทุกคนได้ ทุกคนล้วนได้บ้างเสียบ้างด้วยกันทั้งนั้น ถ้าถูกใจประชาชนอาจผิดใจนักการเมือง ถ้านักการเมืองชอบ ประชาชนอาจรังเกียจ จึงเหลือแต่การก้าวเข้าสู่กระบวนการประชาวินิจฉัย คือ การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ความจริงมีอยู่ว่าประชาชนทั่วไปจะไม่อ่านรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตราซึ่งมีเนื้อหาที่ยากจะเข้าใจ และหลายประเด็นมีการโยงใยระหว่างมาตราด้วย ในขณะที่การเมืองไทยที่ผูกติดกับระบบอุปถัมภ์ทำให้ภาคการเมืองยังมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจลงประชามติของประชาชน
ดังนั้น เพื่อทำให้การลงประชามติสะท้อนเจตจำนงโดยตรงของประชาชน จึงมีความเห็นว่า 1. เนื่องจากประชาชนต้องการเข้าใจเนื้อหาหลักๆ โดยง่าย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรเลือกเอาเฉพาะประเด็นสำคัญมาทำให้ง่ายในการสื่อสารเช่นประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. ประเด็นการป้องกันคนทุจริตไม่ให้เข้ามามีอำนาจ ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน และประเด็นการปฏิรูป เป็นต้น
2. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้สื่อทุกประเภท ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และอุปกรณ์สื่อสารของรัฐ เช่น หอกระจายข่าว เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ
3. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรอาศัยศิลปินและนักแสดงมาช่วยเผยแพร่ เช่น หนังตะลุง เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงอีแซว เพลงโคราช หมอลำ เป็นต้น เพราะเป็นศิลปินที่เข้าถึงชาวบ้านอยู่แล้ว และจะช่วยทำความเข้าใจต่อชาวบ้านอย่างเป็นผล
4. กระบวนการประชาวินิจฉัยที่นำไปสู่การลงประชามติ ควรจะให้ความเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญที่แสดงออกด้วยเหตุด้วยผลอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นพื้นที่เปิดกว้างที่สามารถทำได้โดยไม่มีการปิดกั้นใดๆ หากทำได้เช่นนี้จะทำให้การลงประชามติมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง