ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ในครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทั้ง 10 กระทรวง ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของวงการเกษตรสู่ Digital Thailand 4.0 โดยร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มุ่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรด้วยฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ
ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการจัดทำ Big Data มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2559 โดยจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ และพัฒนาต่อยอดสู่โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติในปีนี้ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และอีก 9 กระทรวง (8 กระทรวง และ 1 หน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนันต์ สุวรรณรัตน์) เป็นผู้ลงนามร่วมกับผู้บริหารอีก 9 กระทรวง
สำหรับความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน และข้อมูลทางด้านการเกษตรอื่นๆ ที่จำเป็น โดยกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการตลาด กระทรวงการคลังสนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร รวมทั้งแหล่งเงินทุน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญ โรงงานและแหล่งที่ตั้ง กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนข้อมูลการใช้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 10 กระทรวง มีความพร้อมเต็มที่ในการสนับสนุนระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อนำมาวิเคราะห์ในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ภาคเกษตร ทั้งด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้า และด้านทรัพยากรเกษตร และนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติต่อไป
การขับเคลื่อนในระยะแรก จะผลักดันฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และจะขยายเพิ่มอีก 8 สินค้า ให้ครบ 13 สินค้า ภายในมกราคมปี 2563 รวมทั้งขยายฐานข้อมูลด้านปศุสัตว์และประมงในระยะต่อไป โดยปัจจุบันสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ผ่าน http://agri-bigdata.org และระยะถัดไป จะเร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล 10 กระทรวง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะนี้ สศก.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Big Data ด้านการเกษตร โดยมีแนวทางการจัดตั้งเป็นหน่วยงานในสังกัด สศก. เทียบเท่าศูนย์/สำนัก และเตรียมความพร้อมบุคลากรประจำศูนย์เพื่อปฏิบัติงานและให้บริการข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้ มั่นใจว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาตินับเป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่ทุกหน่วยงาน ได้ร่วมกันยกระดับการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน รวดเร็ว แม่นยำ โดยใช้ระบบ AI ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านนโยบาย การพยากรณ์ และการเตือนภัยด้านการเกษตร อีกทั้งทุกภาคส่วนยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ซึ่งก่อให้ให้เกิดการต่อยอดธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สู่บริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร