ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในการเตรียมมาตรการรับมือภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และขับเคลื่อนนโยบายของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับภัยแล้ง ในการลงพื้นที่ดูภัยแล้ง และตรวจดูลำน้ำชี ณ อ.แวงน้อย โรงเรียนแวงใหญ่วิทยาคม อ.ชนบท และอบต.ศรีบุญเรือง จ.ขอนแก่น ว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลได้จัดมาตรการแก้ไขภาวะภัยแล้งปี 2563 โดยการเติมน้ำให้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกง พร้อมทั้งส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคให้ร่วมมือกันขุดลอกคูคลองซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทุกตำบล ให้มีน้ำมากพอใช้ในแต่ละชุมชนไปเป็นระยะเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำฝนเทียม โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยบินของ 3 เหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร
“ปัญหาภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องพึ่งแหล่งน้ำจากธรรมชาติ ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรที่สำคัญของโลก ภัยแล้งจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการลดลงของผลผลิตทางด้านการเกษตรของไทย ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ และโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งล้ำน้ำชี และทำฝายชะลอน้ำ เพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ ในจังหวัดขอนแก่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ปัจจุบันที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร ยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน ในส่วนของลำน้ำชีนั้น ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขต อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ จากสภาพลำน้ำชีค่อนข้างแคบในช่วงต้นและคดเคี้ยวจึงมักประสบปัญหาอุทกภัยบริเวณสองฝั่งลำน้ำชีเป็นประจำประกอบกับพื้นที่ลุ่มน้ำชีมีขนาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศมักมีการผันแปรของปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง
ในทางกลับกันเมื่อมีฝนตกหนักก็ทำให้เกิดน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตร ทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพรม-เชิญ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาพร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตร