" ภาพทางสังคมยังไม่โดนลบ สังคมยังมองคลองเตยเป็นชุมชนที่มียาเสพติดแพร่กระจาย เป็นชุมชนสลัม คำว่าคลองเตยเป็นภาพพจน์ที่ลบมาตลอดความป่าเถื่อนซึ่งจริงๆทุกคนก็ช่วยกันแก้ไข แต่ภาพพจน์เหล่านั้นมันถูกฝัง ถูกฝังในคนที่ไม่เคยมาสัมผัสคลองเตยจริงๆ " นั่นคือเสียงสะท้อนจากคนในชุมชนซึ่งกำลังพูดอยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบันที่พื้นที่แห่งนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วและก็มีภาพอีกด้านหนึ่งที่อยากให้สังคมภายนอกได้มองเข้ามา ได้รับรู้และสัมผัส แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักคลองเตยในอีกมุมหนึ่งหรือภาพลักษณ์หนึ่ง ลองย้อนกลับไปดูอดีตและที่มาก่อนว่าชุมชนแห่งนี้เป็นมาอย่างไร
เชื่อว่าอาจน้อยคนนักที่จะรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนอันได้ชื่อว่า มหานครแห่งสลัมในกรุงเทพฯซึ่งเชื่อแน่ว่าหากได้รู้ที่มาของชุมชนแห่งนี้แล้วอาจพอจะเข้าใจได้ถึงสถานภาพที่เป็นมาหลายสิบปี ซึ่งดูเหมือนว่าจะออกไปในด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าเรื่องความแออัด สิ่งเสื่อมโทรม ยาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาต่างๆล้วนประทับตราให้กับพื้นที่นี้ที่ใครๆเรียกว่า คลองเตย
ที่ตั้งชุมชนคลองเตยคือ เมืองปากน้ำพระประแดงโบราณ ปัจจุบันคือที่ทำการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และจากการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯช่วงปี 2481 – 2490 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับคลองเตย เมื่อแรงงานจากต่างจังหวัดเข้ามาสร้างแคมป์พักรวมทั้งในปี 2503 ที่สหรัฐอเมริกามาขอตั้งฐานทัพเพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นทำสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐต้องการแรงงานในการจัดตั้งฐานทัพ ตลอดจนทำงานต่างๆทำให้คนพากันหลั่งไหลเข้ามาหางานทำ
คลองเตยจึงเป็นเป้าหมายของแรงงานอพยพ โดยเข้ายึดพื้นที่รอบๆของการท่าเรือและปลูกสร้างบ้านเรือนประมาณปี 2510 จนถึง 2513 พื้นที่คลองเตยจึงกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ตั้งแต่บัดนั้น และในปี2521 มีการแยกสลัมออกเป็นส่วนๆ 18 สลัมให้แต่ละสลัมมีคณะผู้นำของตัวเองก่อนยกเลิกคำเรียกว่า สลัม เป็นชุมชนแออัดซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายถิ่นที่ย้ายเข้ามาอยู่ส่วนใหญ่เป็นพวกหาเช้ากินค่ำและผู้ใช้แรงงาน และแน่นอนเมื่อคนร้อยพ่อพันแม่อยู่รวมกันย่อมเกิดปัญหา และหลายปัญหานั้นก็กลายเป็นภาพลักษณ์ลบๆของชุมชนแห่งนี้ที่ยากจะสลัดหลุด
กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอปท.นิวส์ได้เข้าไปเยือนคลองเตยพร้อมคำถามมากมายที่อยากจะนำเสนอให้ผู้รับสารหรือสังคมภายนอกได้รับรู้ถึงชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมชุมชนคลองเตยว่าวันนี้เป็นอย่างไร และได้ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ ธนาเดช แสงภัทรภาคิน ประธานชุมชนตลาดท่าเรือคลองเตย และต่อไปนี้คือเรื่องราวของมหานครแห่งสลัมที่ดำรงอยู่กลางเมืองหลวงของประเทศมาหลายสิบทศวรรษ
ธนาเดชบอกว่าอยู่คลองเตยมาตั้งแต่เกิดนั่นคือประมาณ50ปีมาแล้วตอนนั้นคลองเตยยังเป็นท้องทุ่ง เป็นพื้นที่ของการท่าเรือคนยังมาอยู่น้อยแต่ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำมาหากิน คนเก่าๆโดนเวนคืนย้ายไปหลายหมื่นครัวเรือนทั้งยังมี ประชากรแฝงคือทั้งคนต่างด้าวและคนต่างจังหวัด ส่วนคนดั้งเดิมจะกระจัดกระจายออกไปรอบนอกปริมณฑล ปล่อยบ้านไว้ให้เช่า บางครอบครัวอพยพไปทำมาหากินที่อื่น
ปัจจุบันคลองเตยมี 40ชุมชน ซึ่งธนาเดชบอกว่าจำนวนประชากรไม่เสถียรนักมีราว 7-8 หมื่นคนที่ไม่ใช่พวกประชากรแฝง นับเอาเฉพาะคนที่มี่สิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนกิจกรรมที่ส่งเสริมชุมชน เช่นลานกีฬา ประชาคม ก็มีอยู่บางชุมชน โดยสำนักงานเขตเข้ามาส่งเสริม ในขณะที่กรรมการชุมชนจะดูเรื่องการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของงบประมาณ ส่วนเรื่องยาเสพติดนั้นมีน้อยมากแล้ว ฉะนั้นกิจกรรมประชาคมส่วนใหญ่จึงเป็นการแก้ไขความเดือดร้อนยากจน ภาวะแวดล้อม ที่ตั้งชุมชน การปรับปรุงการพัฒนาที่สวยงามเป็นระเบียบ
สำหรับแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ธนาเดชอธิบายว่าแล้วแต่ชุมชนใดจะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมา เช่น ตั้งศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ซึ่งจะมีสำนักงานเขตสนับสนุน หรือผู้นำชุมชนจะไปขอหน่วยงาน เจ้าของธุรกิจ ก็อาจสนับสนุนมาได้เช่นกัน เช่น ห้องสมุด แต่ชุมชนก็ไม่สามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ได้อย่างจริงๆจังๆถ้าไม่มีหน่วยราชการสนับสนุนรับผิดชอบเป็นตัวหลัก
แหล่งเรียนรู้บางชุมชนจึงได้ผลักดันพัฒนากันเอง เช่น ชุมชนริมทางรถไฟ ที่ปรับปรุงที่ทำการกรรมการชุมชนมาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เด็ก หลายชุมชนก็ทำให้กับเด็ก บางชุมชนมีความสะอาดเป็นระเบียบ เป็นชุมชนสีขาวแต่หลายชุมชนก็ล้มเหลวจากที่เคยสร้างซึ่งด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง และกรรมการชุมชนก็เหมือนผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานเขตกับชุมชนเท่านั้นไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย
ในด้านสวัสดิการบางชุมชนจะทำรูปแบบเงินออม ศูนย์เงินออม ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้วธนาเดชบอกว่าในยุคคสช.นี้ภาพรวมค่อนข้างดีเพราะมาตรา 44 ทำให้คนหวั่นกลัวพวกธุรกิจสีเทา สีดำค่อนข้างเงียบ แต่เขาก็เชื่อว่าพวกเหล่านั้นยังคงอยู่ไม่ได้ตายจากหรือหมดไปเพียงแต่ว่ายังไม่มีโอกาสหรือจังหวะที่เหมาะสม
ประธานชุมชนตลาดท่าเรือคลองเตย ยังเล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยอย่างเจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน ที่ทำเรื่องไม้ดัดและที่วัดนี่ก็ยังมีเตาเผาสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วยซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งฝรั่ง จีน จะปั่นจักรยานเข้ามาถ่ายรูป ทั้งนี้ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพฯยังได้เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรต้นไม้ดัดทั้งยังได้ตรัสกับเจ้าอาวาสวัดถึงการดัดต้นละมุดให้มีขนาดลำต้นเล็กด้วย
นอกจากนี้ชุมชนคลองเตยยังมีแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้อย่างวังเก่าบ้านปลายเนิน ตลาดสด ตลาดผลไม้ราคาถูก มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาบุคคล มูลนิธิดวงประทีปซึ่งจะมีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาดูงาน หรือจะเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างศาลเจ้าพ่อมังกรเขียวที่ผู้คนมักแวะมาในช่วงเทศกาล ศาลเจ้าปู่พระประแดง
ธนาเดชยังบอกว่ายังมีข้าราชการหลายคนที่ย้ายเข้ามาแล้วกลับออกไปพูดถึงคลองเตยว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนเห็นภาพไม่ดี คนคลองเคยมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีประเพณีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมในชุมชนที่ดี ซึ่ง " หลายชุมชนก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป หลายชุมชนมีกิจกรรมดีๆที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นความไม่ดีกับความดีจึงผสมปนเปอยู่ในพื้นที่คลองเตย เพียงแต่ว่ามุมมองของคนในสังคมจะมองพื้นที่คลองเตยเป็นอย่างไร " เป็นคำทิ้งท้ายที่ชวนให้คิด ในขณะเดียวก็คล้ายกวักมือเรียกชักชวนให้สังคมได้เดินเข้าไปดูและลองมองใหม่อีกครั้ง เพราะคลองเตยอาจมีภาพอีกด้านหนึ่งที่สายตาคนนอกยังไม่เคยเห็น???