นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)เปิดเผยว่า บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ TPCH ที่ตำบลทุ่งสัง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอัตรากำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2019 ดีเด่น ประเภทประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับ ASEAN Energy Awards 2019
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าต้นแบบ ของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในแบบใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) อาทิ ไม้ยางพารา (ตอไม้ รากไม้ ปลายไม้ และปีกไม้) และกะลา/ทะลายปาล์ม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงขาดแคลนใช้เงินลงทุน ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ออกแบบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วยการติดตั้งระบบเครื่องดักจับไฟฟ้าสถิติ (ESP) เพื่อดักจับฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระบบการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขายวัสดุทางการเกษตร เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายพลังงานที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ศักยภาพของโรงไฟฟ้าดังกล่าว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 9.2 เมกะวัตต์ หรือสามารถขายได้ 77 ล้านหน่วยต่อปี เป็นหน่วยผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท จากการรับซื้อวัสดุทางการเกษตร และการจ้างงานบุคลากรภายในพื้นที่ถึงร้อยละ 93 อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่กับภาคใต้ ในกรณีที่เกิดปัญหา ไฟฟ้าตก – ดับได้อีกทางหนึ่งด้วย
“จากศักยภาพของโรงไฟฟ้าจึงทำให้ได้รับการพิจารณารางวัลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน นับเป็นเครื่องการันตี ถึงความสำเร็จในความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาตรฐานในการผลิตไฟฟ้าและการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพจากการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง” นางสาวนวลจันทร์ กล่าว
นอกจากนี้ พพ.จะเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำวัสดุทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูง ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ยังไม่สามารถพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการได้ โดยปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการจัดส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางผ่านระบบสายส่ง ให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง