นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร ในพื้นที่การเกษตร ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ไอเสียรถยนต์ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น การประกอบโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากการทำการเกษตร และหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษวากพืชหรือวัชพืช และวัสดุทางการเกษตร ในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ตั้งคณะทำงานฯ ดังกล่าว เพื่อบูรณาการหน่วยงานในสังกัดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนป้องกันและเฝ้าระวังเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร เสนอแนะมาตรการและแนวทางในการป้องกันต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแล การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าและรายงานผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ
นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการ/แผนงาน เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2563 จำนวน 4 โครงการ/แผนงาน ได้แก่ 1)โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร จำนวน 2 กิจกรรม คือ การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 16,800 ราย และการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา เป้าหมาย 150 ตำบล และ 80 ศพก.ในพื้นที่ 42 จังหวัด จำนวน 226 แห่ง อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดการเผา และได้มีการรณรงค์ไปแล้ว 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และจะดำเนินการกิจกรรมต่อเนื่องในจังหวัดนครปฐม ในวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้2) โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกควันในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ จำนวน 2 กิจกรรม คือ การไถกลบตอซัง เป้าหมาย 70,000 ไร่ การผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 3,645 ตัน งบประมาณการดำเนินงาน 38.994 ล้านบาท3)โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 45,000ไร่ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้หายากหรือไม้ประจำถิ่น และ 4)แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันและไฟป่า ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ให้เร็วขึ้น โดยจะเปิดในวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2563 ที่จะถึงนี้ จำนวน7ศูนย์
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดคือ 1) ให้กรมส่งเสริมการเกษตรมอบหมายเกษตรจังหวัดบูรณาการแผนงานโครงการฯ ในพื้นที่การเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประสานการปฏิบัติการร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมอบหมายเกษตรอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด จัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ เพื่อออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่การเกษตร 2) ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด รายงานผลการดำเนินการงานในพื้นที่ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ 3) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อำนวยการ กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานในระดับจังหวัดปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง 4) ให้อธิบดีและหัวหน้าสนับสนุนการดำเนินงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ 5) ให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และ 6) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการดำเนินงานต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานชุดเล็ก จำนวน 3 คณะ ใน 3 สินค้าเกษตร คือ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย เพื่อหาพื้นที่เสี่ยงที่ยังมีการเผาและมีแนวโน้มที่จะมีการเผา และหามาตรการในการดำเนินในเรื่องดังกล่าว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป