รมช.เกษตรฯ เปิดโครงการสัมมนารวมพลคนเกษตรอินทรีย์ มุ่งหวังให้ประชาชนบริโภคอาหารปลอดภัย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการสัมมนารวมพลคนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดจันทบุรี ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าตากสินมหาราช (อาคารหอกระต่าย) เทศบาลเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ว่า ปัจจุบันกระแสความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพ บริโภคอาหารปลอดสารเคมีและสินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการปลูกผักและผลไม้ปลอดสารเคมี ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นหนึ่งใน 26 จังหวัดต้นแบบการขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์แห่งชาติตั้งแต่ปี 2548 และจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สภาเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจริงโดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ประชาชน ประชาสังคมและสื่อมวลชน ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีคนจันท์ จึงเป็นผลให้การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์มีความชัดเจนมากขึ้น มีการพัฒนาเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ และพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) จันทบุรี เพื่อเพิ่มความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจรและยั่งยืน
“ปัจจุบันรัฐบาลมุ่งเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ และได้บูรณาการหน่วยงานในสังกัดร่วมกันดำเนินการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำปุ๋ยสั่งตัดที่เป็นอินทรีย์โดยเฉพาะ และการให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำโครงการนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกษตรอินทรีย์ให้ประชาชนโดยทั่วไปรับรู้ พร้อมสร้างความปลอดภัยให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว คาดว่าจะเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดจันทบุรี การเกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เชิงนโยบาย เกิดกลไกที่ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์จังหวัดจันทบุรีอย่างชัดเจน เกิดการให้ข้อมูลที่เป็นถูกต้องเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้ เกิดการยอมรับ และมีความเชื่อมั่นในระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) จันทบุรีต่อไป