นาย ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ปี พ.ศ. 2563 ภายใต้แนวคิด "พื้นที่ชุ่มน้ำกับความหลากหลายทางชีวภาพ" เพื่อให้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งภายในงานมีนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแก่เด็กและเยาวชน กิจกรรมเก็บขยะในป่าชายเลนและเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน
นายยุทธพล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการขยายตัวของจำนวนประชากร สวนทางกับพื้นที่ป่าที่ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ-ป่าชายเลน ซึ่งมีคุณสมบัติในการฟอกอากาศและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกถึง 10 เท่า สำหรับสถานตากอากาศบางปูนั้น ขอชื่นชมหน่วยงานเจ้าของพื้นที่และประชาชนที่ช่วยกันดูแลป่าชายเลนในพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นอย่างดี มีความสมบูรณ์จนเป็นแหล่งอาหารของนกนางนวล และนกประจำถิ่นที่สำคัญอีกหลายชนิด ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายแสนคนตลอดทั้งปีจากทั่วประเทศ ควรค่าแก่การผลักดันให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ ต่อไป
ประเทศไทย ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ ( Ramsar Convention ) เป็นลำดับที่ 110 จากทั้งหมด 170 ประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2541 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ตามอนุสัญญาฯ ทั้งหมด 14 แห่งทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ในการประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ( National Focal Point ) โดยสำนักเลขาธิการสัญญาฯ ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ( World Wetlands Day ) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำระดับประเทศและท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ