นายแพทย์ กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน)หรือ สรพ. กล่าวว่าได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงพยาบาลคุณภาพมาตรฐาน HA ที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) ในพื้นที่โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน ที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ เป็นหนึ่งในระบบการประเมินและรับรองที่ สรพ. จัดทำขึ้นและเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะในชุมชน พัฒนาคุณภาพงานบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และเกื้อหนุนการเชื่อมโยงถักทอกระบวนงานในระหว่างสถานพยาบาลให้เกิดการบริการไร้รอยต่อ และยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ นำมาสู่การได้รับบริการที่ดี และความสามารถที่จะดูแลตนเองได้
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) จำนวน 17 แห่ง ทั้งนี้โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี
ผอ.สรพ.กล่าวว่าความร่วมมือของชุมชนจะทำให้ความเข้มแข็งของชุมชนเกิดขึ้นในทุกๆด้านไม่เฉพาะด้านสุขภาวะเท่านั้น แต่ในเรื่องของมลพิษ สิ่งแวดล้อม เรื่องสุขอนามัย เรื่องของการบริการประชาชน รวมไปถึงการสร้างค่านิยมที่ดีๆให้กับลูกหลานในชุมชนที่จะพัฒนาต่อยอดในชุมชนของตัวเองต่อไป ทางสรพ.เองจะสนับสนุนให้มีโมเดลแบบนี้มากขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ การรับรองในระดับเครือข่ายอำเภอ เป็นความร่วมมืออย่างแท้จริง เพราะเราไม่ได้บังคับเป็นความสมัครใจของสถานพยาบาล และในอนาคตการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลจะทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐบาล
ด้านนายแพทย์พิทยา หล้าวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ จนได้รับการรับรอง DSHA จาก สรพ. นั้น โรงพยาบาลได้มุ่งเน้นมิติของ การส่งเสริมและป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงภัยสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะ พชอ.กำหนดประเด็นร่วมที่สำคัญ 9 เรื่อง อาทิ ปี 2560 เริ่มด้วยปัญหาไข้เลือดออก, ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ,ปัญหาการฆ่าตัวตาย ,ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก และปัญหาด้านอุบัติเหตุ และในปี 2561 มีการพิจารณา 2 ประเด็นเพิ่มเติม คือ เกษตรปลอดภัย เน้นกิจกรรมอาหารปลอดภัยเป็นหลัก และการบริหารจัดการขยะ ในปี 2562 พิจารณาเพิ่ม 2 ประเด็น คือ การท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยการแก้ไขประเด็นปัญหาสุขภาพทั้ง 9 เรื่องนี้จะมุ่งเน้นมิติการส่งเสริมป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละประเด็นมี กลยุทธ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ปัญหาไข้เลือดออก มีการระดมอัตรากำลังทั้งจากเครือข่ายบริการสุขภาพและภาคีเครือข่ายอื่น เช่น เทศบาล อบต. อสม. ช่วยกันในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้โรคไข้เลือดออกระบาดมากยิ่งขึ้นโดยผ่าน การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการโรคไข้เลือดออก มีการประชุมทุก 3 เดือน ทำให้สามารถลดอัตราป่วย และเสียชีวิตได้ สำหรับประเด็นการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมืองปอน ได้จัดกิจกรรมการดูแลแบบผสมผสาน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การใช้ธาราบำบัด ในการดูแลรักษากลุ่มผู้ที่ป่วยโรค ข้อเข่าเสื่อมในชุมชนเมืองปอน ในการจัดการอาการปวดจนสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ โดยได้มีการเชื่อมโยงกับชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน จัดนำผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว เข้ารับการแช่น้ำพุร้อนซึ่งเป็นแห่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนและเข้ารับการประคบ นวด และอบสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยนายังได้ร่วมกันจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 ในชุมชนที่มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ด้วยการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน มีนโยบายห้ามเผาป่าเผาขยะเพื่อลดหมอกควันในพื้นที่ และอบต.สนับสนุนงบประมาณในการเฝ้าระวังการเผาป่าในพื้นที่ในชุมชน รพ.สต.ได้รับการสนับสนุนเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อทราบสถานการณ์และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนทราบ รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือพ่นละอองน้ำให้กับบ้านของผู้ป่วยเพื่อจัดการลดฝุ่นละอองในอากาศ โดยปล่อยละอองน้ำบนหลังคาเมื่อมีหมอกควันมากด้วย