นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศขณะนี้ (18 ก.พ.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 42,656 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 18,888 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,110 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,414 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้ ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(18 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,864 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,783 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ
“การดำเนินการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบการขาดแคลนน้ำนั้นกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจึงได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำที่กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศรวม 1,935 เครื่องและปัจจุบันได้ทำการติดตั้งในพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 43 จังหวัดรวม 332 เครื่องนอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมรถบรรทุกอีก 106 คันซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปสนับสนุนแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว 11 คันรวมไปถึงการกำจัดวัชพืชผักตบชวาไม่ให้กีดขวางทางน้ำ”นายอลงกรณ์กล่าว
ด้าน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทานกล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการชลประทานทั่วประเทศ ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่องอาทิโครงการชลประทานตากส่งเจ้าหน้าที่เข้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งและการเตรียมความพร้อมในการใช้น้ำสำหรับพืชสวน (ลำไย) ให้แก่ประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำหน่วยสูบน้ำที่ 10 บ้านป่ายางตำบลสามเงาอำเภอสามเงาจังหวัดตากทั้งยังส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งในเขตตำบลหนองบัวใต้ตำบลไม้งามและตำบลแม่ท้อจังหวัดตากส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตน้ำประปาในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคสาขาด่านขุนทดพร้อมกับติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวางท่อส่งน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสีคิ้วไปยังการประปาส่วนภูมิภาคสาขาด่านขุนทดเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่อำเภอสีคิ้วและอำเภอด่านขุนทดขณะที่ จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการผลิตประปา 2 สาขาได้แก่การประป่าส่วนภูมิภาคสาขาภูเขียวและการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเกษตรสมบูรณ์กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนห้วยกุ่มลงสู่แม่น้ำพรม-เชิญเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาแล้ว คาดว่าจะเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูในหน้านี้
นายสัญญากล่าวต่อไปว่า ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ภาคตะวันออกกรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนอาทิบริษัทEast Water และการประปาส่วนภูมิภาคได้สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ สถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 โดยในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากทุกอ่างเก็บน้ำโดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและกำลังคนสำหรับเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460”ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทานกล่าว