เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 41,922 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 55% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 18,161 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
ทั้งนี้ เมื่อนับเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) จะพบว่า มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 9,980 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 40% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,284 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ ล่าสุด (25 กุมภาพันธ์) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 10,575 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 60% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,950 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 66% ของแผนฯ และในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง
ด้านนายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง การระบายน้ำส่วนใหญ่จะใช้ในการนำไปผลิตประปาและรักษาระบบนิเวศตามแผนฯ ที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละเขื่อน ในขณะที่ฤดูแล้งยังเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ ดังนั้น กรมชลประทานขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนฯ ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอมีใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้