กรมส่งเสริมการเกษตร พลิกมิติงานส่งเสริมภาคเกษตรไทย ปี 63 วางเป้าต่อยอด “โมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” ในพื้นที่ 6 จุดนำร่อง สู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บนักส่งเสริมการเกษตร กระจายรายได้สู่ชุมชน ดันรายได้เกษตรกร สู่ความมั่นคง ยั่งยืนระยะยาว
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ โดยการผลักดันงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและเข้มแข็งในระยะยาว และเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผล อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด สร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งในปี 2563 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นการขยายผลจากการนำโมเดลหรือรูปแบบการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ในพื้นที่ 6 จุดนำร่อง ได้แก่ แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมบางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และกลุ่มผู้ปลูกอโวคาโดแบบครบวงจร อ.พบพระ จ.ตาก
โดยรูปแบบแนวทางการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จากการถอดบทเรียนความสำเร็จในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) เกิดเป็นรูปแบบส่งเสริมการเกษตร 3 รูปแบบหลัก คือ 1.รูปแบบผัก ซึ่งเกิดแนวทางการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและแนวทางกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน 2.รูปแบบมะพร้าว ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางจัดการกระบวนการผลิตแบบไม่เหลือทิ้งหรือขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) และ3.รูปแบบไม้ผล (มังคุดและอโวคาโด) ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดเป็นนโยบายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่พิจารณาพื้นที่เพื่อดำเนินการตามรูปแบบโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่แล้ว จังหวัดละ 1 จุด เพื่อเป็นต้นแบบในจังหวัดของตน ในการต่อยอดโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 6 จุดนำร่อง สู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการเกษตรยังเล็งเห็นความสำคัญในการนำข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืช (zoning) มาใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเดิม หรือการปลูกพืชทางเลือกแซมในพืชหลักเดิมของพื้นที่ โดยจะมีการจัดเวทีชุมชนให้เกษตรกรร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับพื้นที่ต้นแบบที่จะทำการศึกษาการนำโมเดลนี้ไปใช้ ประกอบด้วย 1.พื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี สินค้าเดิม อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง สินค้าใหม่เป็นขมิ้นชันอินทรีย์ 2.อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี สินค้าสมุนไพร 3.พื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่พืชผักและพืชสมุนไพร 4.อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่หน่อยไม้ฝรั่ง 5.พื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สินค้าเดิมยางพารา สินค้าใหม่ปาล์มน้ำมัน พืชร่วมยางพารา พืชแซมยางพารา เกษตรกรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ และ 6.พื้นที่อำเภอเสมิง จังหวัดเชียงใหม่ สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่พืชผัก พืชสมุนไพร
ส่วนระบบการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นอีกกลไกสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ต้องการพลิกโฉมการส่งเสริมการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการดำเนินการมุ่งพัฒนาต่อยอดและใช้กลไกที่มีอยู่เดิม อาทิ ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนา สามารถคิดเป็น พึ่งตนเองได้ อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนตามความต้องการของพื้นที่ทั้งในเรื่องงบประมาณและความรู้และทรัพยากร มีการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่อย่างรอบด้านเพื่อค้นหาศักยภาพและปัญหาของชุมชนที่แท้จริง จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชนขึ้นมาให้สอดคล้องกับทุนทรัพยากรของพื้นที่
พร้อมทั้งจัดเวทีชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกลไกลการทำงานผ่านการส่งเสริมการเกษตรรายบุคคล การส่งเสริมแบบกลุ่มและการส่งเสริมรายสินค้า เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนหรือทุกคนในชุมชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป้าผลสำเร็จของโครงการนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และมีการขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต