วันที่ 6 มี.ค.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ครม.เห็นมาตรการและและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 10 มี.ค.2563
สำหรับมาตรการจะมี 2 ด้าน คือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%
2.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
3. การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%
4. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม จะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน
สำหรับมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2. ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟท์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้
3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 2563 และมาตราการที่ 4.ให้กระทรวงการคลังเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ประกอบด้วย
1. ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ
2. บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด
3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง
4. เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น
และ 5. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื อหน่วยลงทุนกองทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ จากเดิมอยู่ที่ 2 แสนบาท โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย. 2563 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%
นายอุตตม กล่าวอีกว่า จะมีมาตรการดูแลประชาชน โดยจะมีการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ จำนวน 2 พันบาทต่อราย โดยจะทยอยจ่ายเดือนละ 1 พันบาท เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ ผ่านระบบพร้อมเพย์โดยประชาชนที่ได้รับเงินจะได้สามารถกดเงินสดไปใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ต้องไปทำเกณฑ์พิจารณาผู้ได้รับสิทธิ์
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจทุกด้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้จะยังไม่เลวร้ายถึงขึ้นสูงสุด แต่ผลกระทบในขณะนี้ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวของไทย ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งภาคการผลิต และบริการ
ดังนั้นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่น ที่จะออกมาตราการชุดที่ 1 มาดูแลเศรษฐกิจ ออกแล้วไม่ได้จบเลย แต่จะการประเมิน หากมีความจำเป็นก็จะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาต่อเนื่อง
"การใช้เงินจะมีการระวัง ครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มาตรการที่ออกมานี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการในช่วง 2 เดือนนี้เท่านั้น" นายสมคิด กล่าว
Cr.https://today.line.me/TH/pc/article/17RLvz?utm_source=lineshare