หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ เผย ห้ามคนต่างด้าวทำ 40 อาชีพ เป็นงานคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข 13 งาน ระบุ ให้ตามความจำเป็นกับการพัฒนาของประเทศ
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางานเผย กรมการจัดหางานเตรียมเสนอให้หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ จำนวนรวม 40 อาชีพ เป็นงานคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข 13 งาน โดยแบ่งงานออกเป็น 4 บัญชี
บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ งานแกะสลักไม้ งานขับขี่ยานยนต์ งานขายทอดตลาด งานเจียระไนเพชร/พลอย งานเสริมสวย งานทอผ้าด้วยมือ งานทอเสื่อ ทำกระดาษสาด้วยมือ ทำเครื่องเขิน ทำเครื่องดนตรีไทย ทำเครื่องถม ทำเครื่องทอง/เงิน/นาก ทำเครื่องลงหิน ทำตุ๊กตาไทย ทำบาตร ทำผ้าไหมด้วยมือ ทำพระพุทธรูป ทำร่ม งานนายหน้า/ตัวแทน งานนวดไทย งานมวนบุหรี่ งานมัคคุเทศก์ งานเร่ขายสินค้า งานเรียงอักษร งานสาวบิดเกลียวไหม งานเลขานุการ และบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย (MRAs) จำนวน 3 งาน ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำ 3 อาชีพนี้ได้ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม
บัญชี 3 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่ งานกสิกรรม งานทำที่นอน งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย งานก่อสร้างอื่นๆ งานทำมีด งานทำหมวด งานปั้นดินเผา
บัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยเป็นแรงงานที่ไทยมี MOU ด้วยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้ทำ MoU กับ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาอาชีพสงวน จะคำนึงถึงงานที่ไม่กระทบกับงานศิลปะและวัฒนธรรมของคนไทย โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยหลังจากนี้ จะออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 วัน ซึ่งหลังจากประกาศได้บังคับใช้แล้ว กรมการจัดหางานจะบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ และดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี