ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สถ. แจ้งแนวทางปฏิบัติ-ใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นในการควบคุมสังเกตอาการผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
18 มี.ค. 2563
                  นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้นายอำเภอทั่วประเทศ ตั้งทีมดำเนินการคัดกรอง แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 โดยให้นายอำเภอร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ ซักซ้อมความเข้าใจกับข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและข้าราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบถึงบทบาทหน้าที่ และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
 
อธิบดี สถ. กล่าวว่า เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการในการป้องกันและระงับโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติและการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
กรณีกระทรวงคมนาคมได้นำส่งผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่องเข้ามาในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ใช้รถยนต์ส่วนกลาง เพื่อรับผู้เดินทางไปส่งยังโรงพยาบาลและสถานที่พักและเบิกค่าใช้จ่ายจากงบประมาณของ อปท. , กรณีผู้ที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการในที่พัก หรือพื้นที่ควบคุม จะเข้าพักในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือพื้นที่ควบคุมที่จัดให้ ก็สามารถใช้รถยนต์ส่วนกลางในการรับเพื่อนำส่งไปยังสถานที่ดังกล่าวได้เช่นกัน
                  
นอกจากนี้ ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานของเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะต้องไปตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังและสังเกตอาการของผู้ถูกกักกัน เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลสามารถใช้งบประมาณจัดหายาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และวัสดุอื่นที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปาก - ปิดจมูก เป็นต้น ในการปฏิบัติงาน หากพบผู้ถูกกักกันเข้าข่ายติดเชื้อ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที, จากนั้นให้รีบจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่พักของผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
 
สำหรับในจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงจำนวนมาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยการมอบหมายของผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถใช้จ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ ถังขยะเพื่อรองรับขยะติดเชื้อ เป็นต้น, มอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในบริเวณสถานที่ควบคุม, จัดหาอาหาร วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 30 บาท ต่อคน และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานที่ควบคุม ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง จำเป็น เหมาะสม และประหยัด
 
นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ยังอยู่ในระยะต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการ ได้เดินทางไปในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือในพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโดยทันที
 
“ขอเชิญชวนให้พี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเป็นกลไกของรัฐบาล กลไกของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับไปเฝ้าระวังอาการยังภูมิลำเนา พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันตัวเองแก่คนในชุมชนทุกช่องทางการสื่อสารในเวลานี้” อธิบดี สถ.กล่าว
 
 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...