ป.ป.ส. ร่วมภาคี สกัดยาอีจากยุโรปได้อีก 30,000 เม็ด ก่อนถึงมือผู้เสพ
เตือนเสพเกินขนาดอาจเกิดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) และกรมศุลกากร ภายใต้ภารกิจสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Taskforce : AITF) ยึด “ยาอีหรือเอ็กซ์ตาซี” ที่ถูกส่งมาจากประเทศเยอรมนีจำนวน 6 กล่อง รวมของกลางทั้งสิ้น 30,465 เม็ด โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้สกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาอีจากประเทศแถบยุโรปไปแล้ว 18 คดี
จับกุมผู้ต้องหา 21 คน ยึดของกลางรวม 142,762 เม็ด ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในสถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หนาแน่น
เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเม็ดยาอีที่ถูกส่งจากยุโรป พบว่า มีสาร MethyleneDioxyMethAmphetamine: MDMA ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนและจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาบ้า และไอซ์ ในปริมาณที่มากถึงร้อยละ 40-60 ในหนึ่งเม็ด มากกว่าเมทแอมเฟตามีนที่พบในเม็ดยาบ้าถึง 4 เท่า นั่นหมายถึงว่า ยาอี ออกฤทธิ์รุนแรงกว่ายาบ้าหลายเท่าและเป็นอันตรายต่อตัวผู้เสพเป็นอย่างมาก ซึ่งการเสพยาอีจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงจนระบบควบคุมอุณหภูมิล้มเหลว หรือภาวะ Hyperthermia ในบางรายหากเสพเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและไตวาย
จนเสียชีวิตในที่สุด เช่นกรณีการเสียชีวิตของชายวัยรุ่นอายุ 19 ปี ในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเสพยาอีในครั้งแรกเท่านั้น นอกจากนี้ ฤทธิ์ของยาอียังจะทำลายผู้เสพให้เกิดความผิดปกติไปตลอดชีวิต เนื่องจากยาอีจะทำลายระบบประสาทและสมองอย่างถาวร แม้ในการเสพเพียงครั้งเดียว
ในประเทศไทย ยาอี จัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โทษทางกฎหมายจึงค่อนข้างรุนแรง หากกระทำผิดในข้อหาลักลอบนำเข้า มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากจำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวปิดท้ายว่า ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาจะต้องลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมทรัพยากรแก้ไขปัญหาในทุกมิติ และขอให้พยายามลดปัญหาให้ได้ในทุกวิถีทาง จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้เชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ทั้งนี้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง”
ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย “สมัครใจบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”