นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ (FM 101.5 MHz) ว่า หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 แสดงความห่วงกังวลและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหารวม 4 ข้อ คือ
1) นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหา ควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จัดการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างเป็นระบบและเผยแพร่ข่าวสารโดยแหล่งเดียวกัน 2) การปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พึงกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางตรงข้าม 3) หากรัฐบาลจะนำยุทธการปิดเมือง (Lockdown) มาใช้ในพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนด พึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดจากยุทธการดังกล่าว และควรวางแผน “ยุทธบริการ” อย่างรอบคอบ และ 4) ประชาชนควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฎิบัติตามคำสั่งหรือข้อเสนอแนะหรือมาตรการของรัฐบาล ทีมแพทย์และหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับประกาศกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว (ฉบับที่ 1)
“โรคโควิด19 (เชื้อ SARS-CoV-2) เกิดจากเชื้อซาร์สและเป็นน้องของเชื้อ SARS-CoV-1 เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งชอบอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส และอากาศแห้งความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 50% หากอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 95% เชื้อโรคดังกล่าวจะตายเกือบหมด สภาพดังกล่าวในประเทศไทยจะตกอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 จึงมีความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคนี้ซึ่งอยู่นอกร่างกายของมนุษย์จะตายไป” ประธาน กสม. กล่าว
นายวัส กล่าวต่อไปว่า “ในช่วงเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้ไป
(1) รัฐบาลควรดำเนินการ test และ isolate ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงออกมา และ trace หาต้นตอ แล้วใช้ยาเก่า เช่น ฟาวิพิราเวียร์รักษาคนไข้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ไปก่อน เพื่อรอเวลาพัฒนาการรักษาชนิดใหม่ (new treatments) ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี
(2) ประชาชนควรนำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาใช้อย่างเคร่งครัด ไม่เข้าไปในที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก หากจะต้องไปซื้อหาอาหาร ของกินของใช้ หรือยารักษาโรค ควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร และควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในสภาพการณ์ดังกล่าว
(3) ประชาชนควรเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสูง หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ”
“ขอให้ประชาชนคนไทยและคนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” ประธาน กสม. กล่าวในที่สุด