ป.ป.ส. ชี้ผู้ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วย “สมองติดยา” รักษาหายได้ ขอให้รีบเข้ารับการบำบัดรักษาก่อนจะกลายเป็นผู้มีอาการทางจิต พร้อมย้ำรัฐมีระบบการดูแลช่วยเหลือทุกขั้นตอน พร้อมยืนยัน แสดงตัวเข้าบำบัดเร็ว รักษาได้ ไม่มีประวัติ ไม่มีความผิด
วันที่ 4 เมษายน 2563 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่าในทางการแพทย์ถือว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยสมองติดยา ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งหากได้รับการรักษาบำบัดฟื้นฟูอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ มีโอกาสเลิกยาได้มาก แต่หากปล่อยไว้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่องและเพิ่มปริมาณมากขึ้น ผลเสียที่เกิดขึ้นจะตามอีกมากมายทั้งด้านสุขภาพร่างกาย ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ประการสำคัญนำไปสู่การเกิดอาการทางจิตได้ โดยจากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบอันเกิดจาการเสพยาเสพติดพบว่า ผู้เข้าบำบัดรักษายาเสพติดในปี 2562 รวม 235,230 ราย ร้อยละ 4 หรือ 9,704 ราย อยู่ในขั้นที่มีอาการทางจิตแล้ว สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2563 (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) มีผู้เข้าบำบัดรักษายาเสพติด รวม 91,270 ราย ร้อยละ 4.5 หรือ 4,140 ราย
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้บำบัดรักษาที่มีอาการทางจิต แม้สามารถหยุดยาเสพติดได้แล้วแต่หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีอาการทางจิตเกิดขึ้นได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลับไปเสพซ้ำ ซึ่งจากข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าหลายรายมีพฤติกรรมก่อเหตุรุนแรงทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายทั้งตนเองและบุคคลอื่น บางรายถึงขั้นเสียชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นสามารถป้องกันได้ ดังนั้นผู้ติดยาเสพติดต้องเข้ารับการบำบัดรักษาก่อนเกิดอาการทางจิต และในรายที่ต้องบำบัดอาการทางจิตด้วยต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยที่บุคคลใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำผู้ติดยาเสพติดและโดยเฉพาะผู้มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยก็ช่วยในการดูแล/เฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการทางจิตจนกระทั่งไปก่อเหตุร้ายได้
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวย้ำว่ารัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญโดยขยายการให้บริการบำบัดรักษาถึงในระดับพื้นที่ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,763 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานซึ่งเรียกว่าการบำบัดรักษาโดยชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ได้ถึง 2,500 ชุมชน เพื่อให้ผู้เสพ/ผู้ติดสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นและมีกระบวนการต่อเนื่องในการติดตามช่วยเหลือดูแลให้สามารถกลับเข้าสู่สังคม ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และลดโอกาสการเสพซ้ำ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา การฝึกทักษะและพัฒนาอาชีพ ด้านการจัดหางาน การมอบทุนประกอบอาชีพเพื่อต่อยอดการทำงาน โดยสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่ให้การบำบัด รวมถึงประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแนะนำแนวทางการขอรับความช่วยเหลือต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. ยืนยันว่า ผู้เสพ/ผู้ติดที่สมัครใจ ขอเข้ารับการบำบัดรักษาจะไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากพบเห็นคนในชุมชนเสพหรือติดยาเสพติดแล้ว ขอให้ใช้ความเข้าใจในการดูแลและนำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาในโอกาสแรก ยิ่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดเร็ว โอกาสฟื้นฟูจากสมองติดยาก็รวดเร็วด้วย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้เสพจนมีอาการทางจิต นำไปสู่การก่ออาชญากรรมและความเสียหายแก่สังคม ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำผ่านสายด่วน กรมสุขภาพจิต โทร.1323 สายด่วนธัญญรักษ์ โทร. 1165 และ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง