ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 หรือเอกสารรายการที่ 10 ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช. 0014/3233 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2552 ต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ร้องขอ โดยให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้กับนายสมชาย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากหลัง ป.ป.ช. มีมติชี้มูลว่า นายสมชายและพวก กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯที่ปิดล้อมอาคารรัฐสภา และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต นายสมชายได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2 ต่อศาลปกครองกลาง โดยระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขอทราบข้อมูลจำนวน 11 รายการ ในชั้นการไต่สวนก่อนที่นำไปสู่การชี้มูลของ ป.ป.ช. ทำให้ตนเองเสียโอกาสในการต่อสู้คดี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นก็มีคำพิพากษาว่า คำสั่งของ ป.ป.ช. ที่ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่นายสมชาย เฉพาะรายการที่ 10 รายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รายละเอียดของสถานที่ในแต่ละจุดที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการทำละเมิดต่อนายสมชาย และให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 10 พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้กับผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์
ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารทั้ง 11 รายการ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. จึงเป็นเอกสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการการทุจริต 2542 มิได้ห้าม หรือ ให้อำนาจ ป.ป.ช. ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ได้เคยมีมติยอมรับในหลักการดังกล่าว ให้ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอตรวจสอบ หรือ ขอรับทราบพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือต่อสู้คดีได้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการตรวจสอบ หรือได้รับทราบพยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เนื่องจากเอกสารรายการที่ 1 - 9 และที่ 11 จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าไม่มีอยู่ในครอบครองของ ป.ป.ช. คงมีแต่เพียงเอกสารรายการที่ 10 เท่านั้น
ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่นายสมชาย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 10 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้นายสมชายได้รับความเสียหาย ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน แต่ให้แก้คำพิพากษาโดยให้เพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีเฉพาะรายการที่ 10 ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ ลับ ที่ ปช. 0014/3233 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2552 และให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 10 พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้กับนายสมชายภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา