การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงต้องมีมาตรฐานและพัฒนาให้ทัน หรือล้ำสมัยมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การศึกษาในบ้านเรา คร่าวๆ จะแบ่งออกเป็นสายสามัญศึกษากับสายอาชีวะ หรือสายวิชาชีพ โดยสายสามัญก็จะเรียนศึกษากันไปถึงขั้นมหาวิทยาลัย จบกันไปตามแขนง และก็ออกไปประกอบวิชาชีพ ขณะที่สายวิชาชีพหรืออาชีวะ จะเน้นศึกษาในภาคปฏิบัติตามสายอาชีพนั้นๆ ให้มีทักษะ เพื่อออกไปประกอบอาชีพอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม ในสายอาชีวศึกษา มีหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา”(สอศ.)ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเป็นองค์กรที่จะผลิตและให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความจ้องการของประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสต์ชาติ มีพันธกิจโดยตรงในการจัดและส่งเสริมและพัฒนาการอาชีวศึกษา และการอบรมอาชีพ ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกำลังคนสายอาชีพสู่สากล ฯลฯ
บทบาทดังกล่าวข้างต้น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาบุคลากรของประเทศ อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับ “ณรงค์ แผ้วพลสง” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คนปัจจุบัน ที่กำลังทำหน้าที่อย่างเข้มข้นถึงลูกถึงคน จนองค์กรแห่งนี้มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ
โดยเลขาธิการฯ ณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2502 จบการศึกษาในระดับปริญญาตร กศ.บ.(ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ศศ.บ (รัฐศาสตร์ : บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท กศ.ม (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร
ส่วนการทำงานนั้น เลขาธิการฯ ณรงค์ เปิดเผยกับ อปท.นิวส์ ว่า ได้ทำมาหลากหลายตำแหน่ง ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2545-2550 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ พ.ศ. 2551 – 2558 เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4 /ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 /ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 /ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1
ปีพ.ศ. 2558 – 2559 เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ปีพ.ศ. 2559 – 2560 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2560 – 2561 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2561 เป็นศึกษาธิการภาค 15 พ.ศ. 2561 – 2562 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ มาจนถึงเดือนต.ค. พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน ก็มารับหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
เลขาธิการฯ ณรงค์ ยังได้เล่าให้ฟังถึงการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่า เรากำลังจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางอาชีวะเองนั้นก็ได้มาประกาศแนวทางการขับเคลื่อนโดยอยู่ภายใต้หลักการ 4 ประการ คือ
“ประการที่ 1 เราอยากให้สถานศึกษาเป็นศูนย์อบรมหรือที่เรียกว่าเทรดดิ้งเซ็นเตอร์และศูนย์การเรียนรู้ร่วมด้วยโดยให้เป็นการดำเนการที่เป็นระบบและมีมาตรฐาน และที่สำคัญต้องตอบโจทย์บริบททางสังคมในขณะนี้ด้วย โดยทุกวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยการอาชีพ สารพัดช่าง จะต้องตระหนักและดำเนินการในเรื่องนี้ เนื่องจากเราต้องพิเศษในการดำเนินการเรื่องอาชีพ”
“ประการที่ 2 คือเราต้องโฟกัสด้วยการเป็นสถานศึกษาที่ผลิตกำลังคนในด้านเทคนิคและเทคโนโลยีที่เรียกว่าเป็นแรงงานฝีมือที่ไม่ใช้แรงงานทั่วๆไป ซึ่งกำลังคนกลุ่มนี้ก็เป็นกำลังที่ประเทศชาติต้องการ
“ประการที่ 3 คือเราต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมในหลักสูตรที่เราเรียกว่า อัพสกิลด้วยการเพิ่มทักษะใหม่ๆ รวมถึงแนวปฎิบัติของการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย /ประการที่สี่คือเราต้องส่งเสริมมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและจะต้องเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม”
ดังนั้น ตามที่กล่าวไปข้างต้นจึงเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงานของอาชีวะ ประกอบกับในปี 2563 นี้อาชีวะก็จะเดินหน้าส่งเสริมให้คนมาเรียนอาชีวะกันให้มากขึ้นด้วยการเอาเด็กและโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง เพราะบางทีทุกวันนี้เด็กไปเรียนสายสามัญกันจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือเริ่มมีคนตกงาน จบปริญญามาก็ไม่มีงานทำ
“แต่เด็กอาชีวะพอจบมาต้องมีงานรองรับเลย หรือบางคนที่มาเรียนอาชีวะเรียนไปด้วยฝึกงานไปด้วยก็มีรายได้แล้ว ฉะนั้นนี้คือโอกาสซึ่งถ้าคนมาเรียนอาชีวะบอกว่ากลัวจะไม่ได้เรียนปริญญาตรีก็คงจะไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว เพราะอย่าลืมว่าถ้ามีวิชาชีพติดตัวอย่างน้อยก็สามารถเอาตัวรอดได้ จึงจะต้องดำเนินการส่งเสริมให้คนมาเรียนอาชีวะเพิ่มให้ได้”เลขาธิการฯ ณรงค์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
พร้อมขยายความให้เราฟังเพิ่มเติมด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มุ่งให้วิทยาลัยอาชีวะมีคุณภาพด้วยการกำหนดแนวทางขึ้นมาไว้ในแต่ละวิทยาลัยด้วยการจับอาชีพที่เป็นยุคสมัยใหม่ขึ้นมา 11 อาชีพ คือกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นเรื่องของเครื่องยนต์ไฟฟ้า /กลุ่มอาชีพอิเล็กทรอนิกส์ /กลุ่มอาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรมอาหารและการบริการ /กลุ่มอาชีพการขนส่งโลจิสติกส์ /กลุ่มอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนวัตกรรม /กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเรื่องนี้คนรุ่นใหม่มีความสนใจเป็นอย่างมาก /กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน /กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์ทางน้ำ อย่างเช่นเรื่องของพานิชนาวี เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอาชีพนี้ต้องยอมรับเลยว่ามีรายได้ที่ค่อนข้างดี /กลุ่มอาชีพเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ /กลุ่มอาชีพดิจิทัล /และกลุ่มสุดท้ายคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน
“อาชีวะมีโอกาส โดยรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้โอกาสและให้ความสำคัญกับอาชีวะเป็นอย่างมาก และตนเองก็พาทีมอาชีวะวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้สอดรับกับนโยบาย และคาดหวังว่าถ้าเราดำเนินการในส่วนนี้ไปได้ก็จะทำให้ภารกิจด้านการศึกษาตอบโจทย์ประเทศได้ อีกทั้งยังสนองความต้องการของผู้เรียนได้ผลด้วย ละที่สำคัญเมื่อจบการศึกษามาแล้วมีงานทำมีรายได้”
ส่วนการทำงานจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากเราทำงานกับคนหลายกลุ่มหลายความคิด ก็ต้องมีการทำความเข้าใจกัน ซึ่งตนก็เชื่อมั่นว่าในครอบครัวของอาชีวะและบุคลากรทุกคนมีความพร้อมเพียงแต่ขอให้มีทิศทางและกรอบการทำงานที่ชัดเจนเป็นพอ แต่ทั้งนี้การทำงานก็ต้องมีปัจจัยเสริมเพราะอย่าลืมว่ากองทัพก็ต้องเดินด้วยท้องจึงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐด้วย