การบำรุงพุทธศาสนา นอกจากยึดมั่นในหลักคำสอนแล้ว การเผยแพร่หลักคำสอนก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นความสำคัญที่จะทำให้วิญญูชนได้ซึมซับหลักคำสอนพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแบบพลวัต ทำให้การเชื่อมโยงคำสอนศาสนาพุทธจึงยากขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในพระอาจารย์ที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ อยากจะขอแนะนำให้รู้จักก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี วัดใหม่ยายแป้น ผู้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ที่ได้เข้ามาบริหารวิทยาลัยแห่งนี้ ขณะที่มีนิสิตเพียงร้อยต้นๆ เท่านั้น รวมทั้งยังมีอุปสรรคการบริหารจัดการ แต่ท่านเป็นผู้ที่ทำให้วิทยาลัยสงฆ์ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ
ศาสตราจารย์ ดร.พระมหาบุญเลิศ ได้เล่าให้ฟังว่า อาตมามีพื้นเพเป็นคนจังหวัดตรัง เกิดที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง มีพี่สาว 2 คน เป็นบุตรคนสุดท้องของนายรวยและนางคล่อง ช่วยธานี เนื่องจากโยมพ่อโยมแม่แยกทางกันตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ต้องอาศัยอยู่กับคุณปู่และคุณย่าที่บ้านยะหรม ตำบลโคกยาง ในช่วงวัยเด็กเข้าศึกษาประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านโคกยางจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงที่เรียนประถมสอบได้ที่ 1 ของห้องตลอด ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเรียนเก่ง แต่เนื่องจากทางบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงไม่สามารถส่งให้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาได้ ชีวิตการศึกษาในวัยเด็กจึงจบแค่ชั้นประถม
เมื่อไม่มีโอกาสศึกษาในระบบโรงเรียนตามปกติด้วย ซึ่งก็เป็นปกติของลูกหลานคนจนโดยทั่วไปในสมัยนั้น ส่วนใหญ่ก็หางานทำ เริ่มต้นจากงานก่อสร้างแล้วค่อยๆ เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เพื่อนที่เรียนประถมด้วยกันหลายคนก็เป็นแบบนี้ อาตมาตัดสินใจบวชเป็นสามเณรเพราะอยากเรียนหนังสือ และเป็นโอกาสเดียวที่เราจะได้เรียน ครั้งแรกบวชเป็นสามเณรที่วัดนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในปีแรกที่บวชก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี อาฉลองซึ่งทำงานอยู่กรมการศาสนาอยากให้เจริญก้าวหน้าในการศึกษาทางสงฆ์ ก็เลยนำไปฝากหลวงพ่อสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ รูปปัจจุบัน ในสมัยนั้นท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชปริยัตยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดตรังที่วัดกะพังสุรินทร์ เป็นสำนักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลี
สมัยนั้นวัดกะพังสุรินทร์ นับว่าเป็นสำนักเรียนบาลีใหญ่อันดับต้นๆ ในภาคใต้ นอกเหนือจากวัดวิชิตสังฆาราม จังหวัดภูเก็ต และวัดคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง ในขณะนั้นมีพระสงฆ์สามเณรรวมกันมากกว่า 200 รูป หลังจากที่หลวงพ่อรับเข้าอยู่ในสำนักเรียนแล้ว ก็ได้ส่งตัวให้ไปอยู่กับเจ้าคุณคล่อง หรือพระศรีปริยัติเมธี ป.ธ.9 อาจารย์ใหญ่สำนักเรียนวัดกะพังสุรินทร์ และนี่คือการเริ่มนับหนึ่งในฐานะนักเรียนบาลีที่วัดกะพังสุรินทร์ของอาตมานับจากนี้เป็นต้นมา
เรียนบาลีที่วัดกะพังสุรินทร์อยู่ 2 ปี สอบไม่ตกก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 3 ประโยค จึงได้ขออนุญาตจากทางหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่ว่าจะขอเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเพื่อนสามเณรอีก 2 รูป เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปอยู่ที่ไหนกัน ได้เข้าไปสมัครอยู่วัดหลายวัด แต่ถูกปฏิเสธ สุดท้ายก็ไปอาศัยพักกับครูบาอาจารย์ที่คุ้นเคยก่อนแล้วค่อยๆ หาวัดอยู่กันอีกที ในช่วงนั้นวัดชนะสงครามที่แถวบางลำพู เปิดรับสมัครพระภิกษุสามเณรเข้าสังกัดวัด โดยจะต้องสอบเข้า จึงได้ไปสมัครเข้าสอบและสอบได้ จึงเข้าสังกัดวัดชนะสงครามและศึกษาบาลีเรื่อยมาจนสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
ในช่วงที่เรียนบาลี หลังจากสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคแล้ว ก็หันไปเรียนระดับอุดมศึกษาตามลำดับดังนี้ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต การบริหารัฐกิจ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการพัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาเอกรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี
สำหรับหน้าที่การงานที่เคยทำมา เมื่อเรียนจบปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคมจาก NIDA ก็สนใจด้านการวิจัย ไปร่วมทำงานกับองค์กรทางด้านการวิจัยอยู่พักนึง จากนั้น พ.ศ.2547 ก็สอบเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สังกัดวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงนั้นก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2547-2551 เป็นหัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ การทำหน้าที่อาจารย์บ่มเพาะลูกศิษย์
หัวใจที่อาตมายึดถือ คือ ต้องปั้นเขาให้เป็นคนที่ช่วยสร้างสังคมแห่งความสันติสุข จะนำคำพูดของครูโกมล คีมทอง พูดกับลูกศิษย์เสมอว่า ขอให้ทุกคนเป็นเหมือนก้อนดินที่ทับถมที่ลุ่มให้เป็นพื้นดินที่ใช้ประโยชน์ได้ สิ่งที่สอนไปมีลูกศิษย์นำไปใช้จนมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น มาจากการเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา คือหลวงพี่ช้างรายการคนค้นคน นอกเหนือจากตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ ก็ยังควบหัวหน้าฝ่ายวางแผนและวิชาการของวิทยาลัยด้วย ทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเพื่อนำพาวิทยาลัยให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในจังหวัดพิษณุโลก
จากนั้นปี 2552 ก็ย้ายจากพิษณุโลกมาเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ ช่วงที่เป็นรองคณบดี ตรงกับช่วงเปลี่ยนผ่านหลายอย่างของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้รับการตีค่าจาก ก.พ.ให้เป็นรัฐศาสตร์แต่กลับตีค่าไปเป็นเทววิทยา จึงทำให้เกิดผลกระทบกับลูกศิษย์ที่จบไปแล้วสอบรับราชการ ต้องทำหน้าที่หัวหน้าทีมเจรจาเพื่อหาทางออกนำไปสู่การปรับโครงสร้างหลักสูตรจนเป็นที่ยอมรับ
และปัญหาใหญ่อีกเรื่องก็คือ การที่หลักสูตรของคณะสังคมศาสตร์ถูกนำไปเปิดหลายที่หลายหน่วยงาน คุณภาพการศึกษาจึงมีปัญหา จึงต้องทำหน้าที่ออกแบบระบบและกลไกให้หลักสูตรของคณะสังคมศาสตร์ไม่ว่าจะเปิดที่ไหนต้องมีคุณภาพเหมือนกัน ซึ่งอาตมาจะพูดประจำว่า หลักสูตรของเราต้องเหมือนเซเว่นอีเลฟเว่น คือ ซาลาเปาที่เซเว่นไม่ว่าจะขายที่สาขาไหนรสชาตจะเหมือนกันทุกสาขา และงานที่โดดเด่นมากทำให้เป็นที่รู้จักของหลายฝ่ายในสมัยนั้นก็คือการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมในการรับการประเมินนอกสถานที่ตั้งจาก สกอ. หน่วยงานที่อาตมารับผิดชอบผ่านทั้งหมดไม่ต้องมีการปิดมีการยุบซักหน่วยงานเดียว
นอกจากตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ อาตมายังได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงให้รับผิดชอบหน้าที่ผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ จังหวัดชลบุรี ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จนถึงปี 2561 ย้ายไปรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมจนถึงปัจจุบัน
จากที่ได้ทำงานในสายวิชาการ ทำให้อาตมามีผลงานที่เป็นหนังสือทางวิชาการหลายเรื่อง อาทิ แนวคิดการบริหารนโยบายสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน,การบริหารการพัฒนา, ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์, คู่มือการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันการทุจริตตามแนวพระพุทธศาสนา ,ชุดความรู้ เรื่องวัฒนธรรมพลเมืองประชาธิปไตยตามแนวพุทธ ,สุขชีวีวิถีพุทธ : การเข้าถึงความสุขตามแนวพุทธศาสนา, นวัตกรรมสันติสุขในท้องถิ่น : วิถีแห่งรัฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่ง ดร.พระมหาบุญเลิศ ได้เล่าการบริหารจัดการวิทยาลัยอีกว่า
“วันที่อาตมาเดินทางมาเป็นรองผู้อำนวยการที่วิทยาลัยแห่งนี้ มีนิสิตเพียงหนึ่งร้อยต้นๆ และมีปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารงานหลายประการรวมถึงสภาพคล่องของวิทยาลัย ได้มาวางยุทธศาสตร์ที่เน้นการบริหารเพื่อให้วิทยาลัยสงฆ์ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ให้ได้ เริ่มตั้งกองทุนสะสมเพื่อการศึกษา ให้นิสิตนำค่าเทอมมาสะสม โดยวิทยาลัยสมทบเข้าให้ด้วย แทนที่จะจ่ายเต็มก็ถือว่าวิทยาลัยช่วยส่วนหนึ่ง ตั้งโครงการ 1 โรงเรียน 1 ทุนการศึกษา เพื่อรับเด็กที่ขาดแคลนแต่ทางโรงเรียนเห็นว่าควรได้รับโอกาสเรียนต่อมาเรียนจนถึงปัจจุบันจำนวน 50 คน ตั้งโครงการศูนย์วิสาหกิจทวารวดี ฝึกอาชีพและสร้างรายได้ให้นิสิต สอนให้นิสิตเป็นผู้ประกอบการและจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่วิทยาลัยก็ได้ โดยวิทยาลัยมีกองทุนให้นิสิตยืมไปลงทุนก่อน 3,000 บาท/คน จนถึงปัจจุบันพัฒนาเป็นแบรนด์สินค้าที่ชื่อว่า “เดียร์น่า”
นอกจากนั้น ส่วนของบุคลากรก็เร่งรัดให้มีเส้นทางความก้าวหน้า จนมี ผศ. และ รศ.เกิดขึ้นจำนวนกว่า 10 ท่าน มีกองทุนสวัสดิการให้กู้ยืมยามฉุกเฉิน และอื่นๆอีกหลายประการ จนถึงปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด มีนิสิตจำนวนกว่า ๘๐๐ รูป/คน มีงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงจำนวนมาก มีเครือข่ายที่ทำงานวิชาการหลายเครือข่าย จนสามารถพัฒนาวารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์ ให้ติด TCI กลุ่ม 1ในฐานะบรรณาธิการ นอกจากนั้น ก็ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี หัวใจสำคัญของการกำกับดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษา คือต้องทำให้ความรู้ใช้งานได้จริงกับชุมชน จึงได้ริเริ่มลดเวลาเรียนในห้องเรียน แล้วเน้นให้นิสิตปริญญาโทลงพื้นที่ทำงานโครงการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่เรียกว่า CCS จนสินค้าที่เกิดจากการลงพื้นที่ทำงานของนิสิตถูกนำไปจัดจำหน่ายในหลายช่องทาง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น”
ด้านแนวคิดนั้นทาง ดร.พระมหาบุญเลิศ ได้บอกว่า อุดมคติที่ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต คือ ชีวิตที่นิ่งขาดการพัฒนาคือชีวิตที่ไร้วิญญาณ ต้องพัฒนาชีวิตให้เคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ แม้เป้าหมายที่ต้องการจะดูแสนไกล แต่ก็ต้องเคลื่อนไปไม่ย่อท้อ ในหน้าที่การเป็นอาจารย์ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือตำแหน่งทางวิชาการสูงสุด คือศาสตราจารย์ อาตมามาเป็นอาจารย์ก็มีเป้าหมายแบบเดียวกันนั้น จึงวางแผนชีวิตเพื่อก้าวให้ถึงฝันที่ตั้งไว้
ซึ่งในการทำงาน ไม่ว่าจะในเพศพระและฆราวาสญาติ ไม่สามารถหนีปัญหาอุปสรรคพ้น อาตมาก็ไม่ต่างกัน มีจุดเปลี่ยนในชีวิตหลายครั้ง หลักการสำคัญที่ใช้ในการรับมือ คือ ปัญหาวันนี้ต้องจัดการให้จบวันนี้ วันพรุ่งนี้ เราจะเดินหน้าอย่างไร้กังวล ต้องมีสติในการรับมือกับปัญหา ไม่ด่วนคิด ด่วนตัดสินใจ ใช้หลักโยนิโสมนิการในการรับมือ