ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
สาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต
13 ม.ค. 2568

จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่จูงใจนักท่องเที่ยวได้จากทั่วทุกมุมโลก การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงาม รวมไปถึงมนต์เสน่ห์ของร่องรอยทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งจังหวัดสำคัญที่ได้สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล

ด้วยจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผู้ที่จะเข้ามาบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้ จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง ในเรื่องอุปสรรคปัญหาและขีดความสามารถของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างดี อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับ นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต สาโรจน์ อังคณาพิลาส หรือ นายกโอ๋ คนล่าสุดที่มีแนวคิด ความต้องการที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ที่ไม่ใช่แค่มิติการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจ แต่ยังต้องการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่ม “โครงการสะพานหินซิตี้” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไปอีกระดับอีกด้วย

คุณสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้บอกว่า ตนเองเป็นคนภูเก็ตตั้งแต่เกิด อำเภอเมือง ตำบลตลาดใหญ่ ซึ่งที่บ้านมีคุณแม่ที่รับราชการ ขณะที่คุณพ่อเป็นนักธุรกิจ ทำให้ตนก็เป็นนักธุรกิจมาก่อนเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.) มาก่อน จบปริญญาตรี สาขาบัญชี ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (เพิ่มเติม)

โดยก่อนจะมาดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ก็เคยทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เคยเป็นนายกสโมสรโรตารี่ภูเก็ต รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นนายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมกีฬาจังหวัดภูเก็ต และยังมีอีกหลายตำแหน่งที่เคยทำ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางครอบครัวนายกโอ๋ ก็เคยทำธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดเล็กมาก่อน ก่อนที่ต่อมาจะมาขยายเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ ทำสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด หรือ “โรงพิมพ์ ภูเก็ตออฟเซ็ท” สามารถพิมพ์หนังเสร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งทำมาตั้งแต่เรียนจบยาวนานกว่า 10-20 ปี ก่อนที่ปัจจุบันด้วยชีวิตที่เบนเข็มมาเล่นการเมือง จึงเลิกทำธุรกิจนี้ไปแล้วและยกให้ลูกดำเนินกิจการแทน โดยนายกโอ๋ ได้เล่าถึงเส้นทางการเมืองของเขาเอาไว้ว่า

“ผมเองได้ทำเรื่องสังคมมาโดยตลอดอยู่แล้ว ต่อมาทางอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ท่านไพบูล อุปัติศฤงค์ ซึ่งปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ท่านได้มาชวนมาทำงานตรงนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสมาลง สจ. สมัยแรก ลงสมัยแรกก็ได้รับเลือกตั้งเลย อาจเพราะเราคลุกคลีอยู่ในวงการสังคมอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสได้เป็นสมาชิกสภา 2 สมัย เลยตัดสินใจมาสมัครนายกเทศมนตรีจังหวัดภูเก็ต และก็ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งผมลง สจ. ครั้งแรกก็ได้เลย พอมาสมัครนายกเทศมนตรีจังหวัดภูเก็ต สมัครครั้งแรกก็ได้เลยเช่นกัน”

 เมื่อถามถึงมุมมองการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตในฐานะนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายกสาโรจน์ ก็ได้บอกว่า ถ้าถามสิ่งที่อยากทำก็อยากให้เทศบาลนครภูเก็ต เป็น “พื้นที่บริหารจัดการแบบรูปแบบพิเศษ” จะทำให้ได้งบประมาณที่จะมาแก้ปัญหาหรือพัฒนาเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น

โดยต้องหาโอกาสพัฒนาพื้นที่ เพื่อไปแข่งขันและต่อสู้กับแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะถ้าจะอยู่แบบเดิมคงไม่ดีเท่าที่ควร โดยตัวเขาได้ยื่นศึกษาหรือผลวิจัย ออกแบบกับสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต ทำออกมาแล้วเป็นรูปเล่ม และได้นำไปยื่นกับรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งหากการยื่น “พื้นที่บริหารจัดการแบบรูปแบบพิเศษ” เป็นไปได้ด้วยดี ก็มีโครงการที่จะขับเคลื่อนมากมาย อาทิ  โครงการสะพานหินซิตี้ ในการเปลี่ยนสวนสาธารณะสะพานหินเป็นศูนย์เศรษฐกิจใหม่ หรือเมืองเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาทางเทศบาลนครภูเก็ต ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการ จ้างที่ปรึกษาศึกษาวางแผนแม่บทการพัฒนาและออกแบบ “โครงการสะพานหินซิตี้” โดยมีคุณสาโรจน์ อังคณาพิลาศ นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตเข้าร่วม เพื่อสำรวจศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต

วิเคราะห์ผลการสำรวจ พร้อมศึกษาเพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะเมืองของเทศบาลนครภูเก็ต เชื่อมโยงพื้นที่ทั่วทั้งเขตเทศบาลนครภูเก็ต รวมถึงจัดทำผังแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่สะพานหิน แสดงแนวทางพัฒนาและปรับปรุง พื้นที่สะพานหินสู่การเป็น “สะพานหินซิตี้” และแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สะพานหิน

โดยมีเป้าหมายสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของภูเก็ตพร้อมเป็นจุดท่องเที่ยว มีการสร้างแลนด์มาร์กเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ตมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมอาหารท้องถิ่นภูเก็ต หรือโครงการภูเก็ตเตี๋ยม ที่มีบริการอาหารพื้นเมืองภูเก็ต อาหารซีฟู๊ดและอาหารทั่วไปไว้รองรับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ราคาสตรีทฟู๊ดจนถึงระดับพรีเมียม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในตัวเมือง

ทางที่ปรึกษาโครงการได้ศึกษาออกแบบโครงการสะพานหินซิตี้ ที่มี 3 เซ็นเตอร์หลักๆ ประกอบด้วย พื้นที่ธรรมชาติที่เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ด้านการกีฬา และพื้นที่ด้านเศรษฐกิจที่มีร้านอาหารตามแนวริมคลองบางใหญ่ หรือโครงการภูเก็ตเตี๋ยม โดยทั้ง 3 เซ็นเตอร์จะมีทางเดินเชื่อมต่อกันทั้งหมด

โครงการสะพานหินซิตี้นั้น สิ่งที่จะต้องมีคือ สวนสาธารณะชั้นเลิศในรูปแบบสร้างสรรค์ และพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับการออกกำลังกายและการพักผ่อนหย่อนใจของคนภูเก็ต สปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่สามารถรองรับการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติ สปอร์ตอคาเดมี การปรับปรุงภูมิทัศน์และการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ ศูนย์อาหารหรือโครงการภูเก็ตเตี๋ยม ที่จะเป็นศูนย์จำหน่ายอาหารพื้นเมืองภูเก็ต อาหารซีฟู๊ด รวมไปถึงอาหารอื่นๆ ตั้งแต่ระดับราคาสตรีทฟู๊ดไปจนถึงระดับพรีเมียม เพื่อรองรับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งที่ปรึกษาจะใช้เวลาในการศึกษาทั้งหมด 300 วัน หลังจากนั้นทางเทศบาลจะได้ดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่สะพานหินตามแผนแม่บทที่ได้มีการศึกษาไว้

“นอกจากนี้ ยังต้องการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ศูนย์เรียนรู้นานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้านานชาติ บนถนนภูเก็ต พร้อมกับทำอาคารขนาดใหญ่ เป็นภูเก็ตทาวเวอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกที่จังหวัดภูเก็ต” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พูดถึงแผนในการพัฒนาไว้อย่างน่าสนใจ

นายกโอ๋ เสริมอีกว่า นอกจากการพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่จะทำหากได้เป็น “พื้นที่บริหารจัดการแบบรูปแบบพิเศษ” จะมีการแก้ปัญหาน้ำท่วมและสายเคเบิลที่รกรุงรังทั่วเมือง ปัญหาจราจร รวมถึงปัญหาบุกรุกที่ดินและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจเพราะงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้

ในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน โดยเทศบาลนครจังหวัดภูเก็ตได้จัดทำปฎิทินส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยไม่ถึงพึ่งพา ททท. ด้านเศรษฐกิจชุมชน ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออกบูธโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสถิติจาก ททท. มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ถึง 200 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดย นายกสาโรจน์ ยังได้พูดถึงแผนเชิงรุกในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวว่า

“การส่งเสริมเมืองเทศบาลนครภูเก็ตให้มีสีสันตลอดเวลา เราใช้นโยบายเชิงรุกในการขับเคลื่อนเมืองใช้คำว่า Discover PHUKET เทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองที่น่าค้นหา ใครไปใครมาถ้ามาภูเก็ต ถ้าไม่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต ถือว่ายังมาไม่ถึงภูเก็ต”

สำหรับเศรษฐกิจในปี 2567 นั้น นายกโอ๋ มองว่า ในพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต เศรษฐกิจจากตัวชี้วัดต่างๆ ดูแล้วมีแนวโน้มดีตามลำดับ ตอนนี้จึงต้องบริหารจัดการข้อระเบียบข้อกฎหมาย ภาตรัฐต้องบังคับการใช้กฎหมายให้ตรงไปตรงมา ใครทำผิดก็ต้องไปดำเนินการ อะไรไม่ถูกต้องก็ต้องไปแก้ให้ถูกกต้อง ควบคุมอย่าให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีหรือเกิดผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม เพราะน่าจะประคองสถานการณ์ให้ดีได้ขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับแนวคิดในการที่พาตนเองมาสู่ความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ นายกโอ๋ บอกว่า ได้ใช้คำ 3 คำเป็นหลัก ได้แก่ “คิดดี พูดดี ทำดี” กล่าวคือ ใครจะคิดร้ายกับเราอย่างไร เราก็ไม่คิดร้ายกับใคร เมื่อเจออุปสรรคปัญหา วิธีรับมือขั้นแรกคือต้องมีสติ และพยายามมองภาพรวม และใช้สิ่งที่ถูกต้องเป็นหลัก และทำงานอย่างตรงไปตรงมาก็เพียงพอแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 15- 31 มกราคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...