ในบรรดารัฐวิสาหกิจของประเทศไทย หนึ่งในนั้นที่มีความสำคัญต่อการเดินทางของประชาชน ตลอดจนการขนส่งของประเทศคือ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ ร.ฟ.ท. ที่วันนี้มีอายุถึง 123 ปีหรือน่าจะเรียกได้ว่า ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการบริการรับใช้ประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา การรถไฟฯ จะประสบปัญหาการขาดทุน แต่ด้วยความสำคัญของระบบรางที่กำลังได้รับการพัฒนาและทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในระบบทางคู่ และในระบบรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น การรถไฟฯ จึงต้องเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ฉับไวต่อการบริการและพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ
และนั่นเอง จึงเป็นที่มาของผู้ที่เข้ามากุมบังเหียนองค์กรแห่งนี้ จะต้องเป็นบุคคลที่มากความสามารถ มีวิสัยทัศน์ และที่สำคัญ จะต้องเข้าใจหัวใจขององค์กรแห่งนี้เพื่อนำพาองคาพยพทั้งหมดก้าวไปข้างหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง และหลังจากการรอคอยหัวขบงนตัวจริงมากว่า 2 ปี ในที่สุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็มีมติจ้าง “นิรุฒ มณีพันธ์” มือกฎหมายและอดีตนายแบงก์ เข้ามานั่งเก้าอี้ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนที่ 29 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2563 พร้อมเริ่มงานเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563 ที่ผ่านมามานี้เอง
โดย อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขกฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าการรถไฟฯ เข้าพูดคุยอย่างเป็นกันเองเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่า คุณนิรุฒ ผู้ว่าการรถไฟฯ คนปัจจุบันนี้ เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมาก บุคลิกสุภาพเรียบร้อย การได้ร่วมพูดคุยดูเป็นกันเองและมักมีรอยยิ้มให้เสมอ ด้วยวัย 52 ปี โดยเกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2511
คุณนิรุต เริ่มบทสนทนา โดยเล่าให้ฟังว่า เป็นคนพื้นเพจังหวัดลำปางและจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่จังหวัดลำปาง แล้วเข้ามาเรียนคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านกฎหมายที่สหรัฐอเมริกามา2 ใบ ที่ฮาร์วาร์ด และ Temple University
หลังจากกลับมาประเทศไทยก็มาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็เข้ามาเป็นอัยการอยู่ประมาณ 10 ปี และต่อมาก็ได้ถูกทาบทามให้มาเป็นผู้บริหารที่บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ก็ทำงานอยู่ประมาณ 9 ปีตำแหน่งสุดท้ายที่การบินไทยก็คือรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย และเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย
“ออกจากการบินไทยก็มาอยู่ธนาคารกรุงไทย มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมายและเลขานุการธนาคารกรุงไทยก็ทำงานที่นีกรุงไทยได้ 2 ปีครึ่งถึงจะมาดำรงตำแหน่งล่าสุดนี้คือผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย”
คุณนิรุฒ เล่าให้ฟังด้วยว่า พอเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ก็มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการทำงาน คือเพื่อบ้านเมือง และมองว่าการรถไฟฯ เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของประเทศ จึงมองว่าที่แห่งนี้ก็เป็นองค์กรที่สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มาก
“หลายๆคนอาจจะคิดว่าองค์กรนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องแก้ไขปรับปรุงหรืออาจคิดว่าองค์กรนี้มีความล้าหลังท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปที่มีเครื่องบินเข้ามา มีรถไฟฟ้าเข้ามาแต่ผมว่าป็นโอกาสที่เราจะได้ทำงานเป็นโอกาสของประชาชนและประเทศชาติเพราะผมเชื่อว่ารถไฟยังคงมีความสำคัญอยู่และนับวันรถไฟจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งคนหรือขนส่งสินค้า น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญในยุคนี้เพราะการเดินทางของคนมีมากขึ้น”
“ท้องถนนอาจจะรองรับได้ไม่เพียงพอ รวมถึงเรื่องของการขนส่งสินค้าก็เชื่อว่าจะใช้รถไฟทางรางมากขึ้น เพราะลองนึกดูถ้ามีรถบรรทุกวิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวนมากก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนักทั้งมลพิษและเรื่องความปลอดภัย ซึ่งถ้าการรถไฟฯ แข็งแรงสามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมาก และรถบรรทุกเหล่านี้ลดลงไปจากบนท้องถนนได้สักครึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นผมจึงคิดว่าน่าจะสามารถเข้ามาทำให้เกิดโอกาสตามที่ได้วางไว้ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายเหมือนกันในการที่เราจะทำงานและทำให้โอกาสให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติให้ได้”
ผู้ว่าการรถไฟฯ เล่าให้ทีมงานฟังต่ออีกว่า จริงๆแล้วตัวเขาทำงานเพื่อบ้านเมืองมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่เรียนจบมาก็ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ หลังจากนั้นก็มาเป็นอัยการก็ทำงานให้กับรัฐบาล และก็ไปอยู่การบินไทยก็ยังเป็นองค์กรของรัฐโดยเหตุผลที่ต้องไปอยู่การบินไทยเพราะต้องไปทำคดีสำคัญที่ทำให้การบินไทยไม่ต้องเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล และมาตำแหน่งล่าสุดกับการเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ นี้ก็ทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งถ้าหากให้พูดถึงทัศนคติของตัวเองก็คงเป็นเรื่องทุกลมหายใจก็คิดถึงแต่กับการทำงานให้ชาติบ้านเมือง และยังไม่เคยมีความคิดที่จะไปทำให้กับเอกชนหรือจะไปทำธุรกิจของตัวเองเลย
ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังได้เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมยามว่างที่ชอบทำด้วยว่า ส่วงนใหญ่อยู่กับครอบครัวและทำกิจกรรมโดยเป็นคนชอบปั่นจักรยานประกอบไปกับการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นที่ต้องให้ความสมดุลระหว่างการทำงานกับครอบครัว ซึ่งมองว่าจะสมดุลได้ครอบครัวต้องมีความเข้าใจเราด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยร่วมกันและอธิบายบริบทต่างๆให้เกิดความเข้าใจกัน ซึ่งเมื่อพวกเขามีความเข้าใจวิถีการทำงานของเราแล้ว นั่นคือเวลาที่ความสมดุลมันจะเกิดขึ้นบนความเข้าใจและตนก็โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจมาโดยตลอด