นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ว่า สมุนไพรเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทย ที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญที่จะสามารถเพิ่มความมั่นคงทางสุขภาพ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยได้ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) มีเป้าหมายพัฒนาสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำให้มูลค่าการจำหน่ายเครื่องสำอางสมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศไม่สูงนักมี 3 ประเด็น คือ ผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานและบรรจุภัณฑ์ไม่โดดเด่น การขาดความรู้ด้านการตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559
นายวัชรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ยังได้หาแหล่งเงินทุนและการส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs/OTOP และร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อสนับสนุนและพัฒนา SMEs ไทย โดยดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดทำแนวทางการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และการสนับสนุนข้อมูลวิชาการต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดและการขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรม“การส่งเสริมเครื่องสำอางสมุนไพรสู่ตลาดจีนโดยระบบออนไลน์และ ฟรีเทรดโซน” ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ผู้ประกอบการ SMEs/OTOP ไทย จัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อจำหน่ายออนไลน์ในประเทศจีน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปี 2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขึ้น โดย ได้จัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs/OTOP จำนวน 149 ราย ต่อมาได้คัดเลือกกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 55 ราย ที่มีความพร้อมในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 รายการทดสอบ คือ เอกลักษณ์สมุนไพร ประสิทธิภาพการกันเสีย การปนเปื้อนโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ ผลการดำเนินงาน และในปี 2561-2563 มี ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 12 ผลิตภัณฑ์ จาก 11 ผู้ประกอบการ ทำให้มูลค่าการจำหน่ายเครื่องสำอางสมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในทุกระดับ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ร่างกายแข็งแรง เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง