การใช้จ่ายเงินไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน หรือถ้ายิ่งมาก สิ่งที่จำเป็นตามมาก็คือ ต้องมีการตรวจสอบและติดตาม นัยหนึ่งก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินนั้น ถูกนำไปใช้ตรงตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ อีกนัยหนึ่งแน่นอนก็เพื่อตรวจสอบว่า มีการทุจริต เบียดบัง มุบมิบเงินไปเป็นของตัวเองเกิดขึ้นหรือไม่ ยิ่งในวงราชการหรือการใช้จ่ายของภาครัฐด้วยแล้ว เงินนั้นมหาศาลยิ่งนัก ที่สำคัญเงินนั้นเป็นภาษีของประชาชน โดยองค์กรหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามการใช้จ่ายดังกล่าว ก็คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า สตง.นั่นเอง
สำหรับโครงสร้างของ สตง.นั้น จะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. มีประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 ท่าน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 6 ท่าน ทำหน้าที่เป็นบอร์ดระดับรองต่อมาก็จะเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับใหญ่ ซึ่งก็คือตำแหน่ง“ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน”หรือปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็คือ ประจักษ์ บุญยังซึ่งคอลัมน์ อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับบุคคลผู้นี้ให้มากขึ้น
ผู้ว่าฯ สตง. ประจักษ์ ถือเป็นข้าราชการลูกหม้อของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ไต่เต้ามาจากนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 9 ชช. สำนักงานตรวจสอบดำเนินงานที่ 1, อำนวยการสำนักตรวจสอบดำเนินงานที่ 1, ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 2, ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1, ขึ้นเป็นรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนได้รับคัดเลือกจากผู้สมัคร 18 คน ให้ขึ้นเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 7 : 0 จากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561
สำเร็จการศึกษา เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) สาขาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ทางพัฒนาการเศรษฐกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
“ตอนเด็กๆเรียนที่โรงเรียนวัดหลวงพ่อโสธร พอชั้นมัธยมก็มาเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา พอจบชั้นมัธยมก็มาเอนทรานซ์ (สอบคัดเลือก) เข้ามหาวิทยาลัย แต่ว่าสอบไม่ติด ก็เลยมาเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในคณะเศรษฐศาสตร์ โดยเรียนจบปริญญาตรีภายใน 3 ปี เนื่องจากครอบครัวมีฐานะที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำให้เรียนจบเร็วได้ที่สุดก็พยายามทำเต็มที่ แล้วก็ไปสอบเข้านิด้าเรียนปริญญาโทต่อเลย เทอมสุดท้ายที่เรียนได้ไปสมัครสอบเข้าทำงานที่ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็สอบติดก็ได้ไปทำงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์”
“ประกอบกับเหลือเรียนอีกหนึ่งเทอมก็พยายามทำควบคู่กันไปจนจบทำงานอยู่ที่ ธ.ก.ส.มาสักระยะ และก็มาลองสอบที่ธนาคารไทยพาณิชย์ดู ซึ่งก็สอบติด ในช่วงเวลาเดียวกันก็สอบติด ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งสตง.ก็ไปเอาบัญชีรายชื่อมาจาก ก.พ. อีกทั้งยังมีที่สรรพสามิตก็มีรายชื่อสอบติดอีกด้วย ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทำงานที่ไหน ซึ่งก็ตัดสินใจมาทำงานที่ สตง. ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530” ผู้ว่าฯ สตง. ประจักษ์ ย้อนประวัติให้เราฟัง
ผู้ว่าฯ สตง. เล่าให้ฟังต่อด้วยว่าการมาทำงานที่ สตง.ต้องถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นแรกอย่างเป็นทางการของ สตง. เพราะว่าในบทบาทหน้าที่ของ สตง.มีการตรวจสอบด้านการเงินก็จะมีบุคลากรด้านบัญชี ด้านนิติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งด้านเศรษฐศาสตร์นี้จะมาตรวจสอบว่าผลสัมฤทธิ์นี้ได้ผลหรือไม่และมีประสิทธิภาพอย่างไร ดังนั้นจึงถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นแรกที่ สตง.รับเข้ามา ซึ่งก็ทำงานด้านนี้มาโดยตลอดและในความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์จะเชื่อมโยงถึงการทำงานมายังปัจจุบันที่เราจะดูถึงผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน
ผู้ว่า สตง. ยังได้เล่าถึงการเป็นรองผู้ว่าฯ สตง. และได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ สตง.ว่า เนื่องจากทำงานที่ สตง.มานาน จึงมีความรู้ความเข้าใจในเนื้องาน ซึ่งพอมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. เมื่อว่างลง ก็มองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเสนอตัวขึ้นมาทำหน้าที่ในส่วนตรงนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนในองค์กร สตง.ก็มีคุณภาพที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะได้หรือไม่ได้ เพียงแต่เราทำหน้าที่ให้ดีเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ได้เข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.
“การทำงานจะใช้รูปแบบนักเศรษฐศาสตร์ที่จะดูในเรื่องของผลสัมฤทธิ์เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้มุ่งที่จะจับผิดการใช้จ่ายเงินแต่เราจะให้คำปรึกษาถึงแนวทางการใช้เงินที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและให้เป็นการคุ้มค่า แต่ทั้งนี้หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นทาง สตง.ก็ไม่ปล่อยผ่านอยู่แล้ว”
ผู้ว่าฯ สตง.ยังได้พูดถึงตัวเองว่า หากให้มองตัวเองก็คิดว่าเป็นคนที่มีเหตุผล ใจเย็นในแบบฉบับที่มีสติ และไม่ค่อยได้ดุใคร จะเป็นคนที่รับฟังมากกว่าท้ายนี้ ผู้ว่า สตง.ได้เล่าถึงกิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกที่ชอบทำว่าส่วนใหญ่จะมีอยู่2 ส่วน คือ กีฬากับดนตรี คือตั้งแต่สมัยเรียนก็จะเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอล จนมาทำงานก็เล่นกีฬาภายในของ สตง.ด้วย แต่สิ่งที่ชอบดูคือฟุตบอล โดยเป็นแฟนของทีมอาร์เซนอล นอกจากนี้ถ้าเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้ไปไหนก็จะไปปั่นจักรยาน ส่วนดนตรีตนก็ชอบเล่นกีต้าร์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจเหมือนเป็นการรีเฟรซตัวเองให้พร้อมกับการทำงานต่อๆไป
“การตรวจสอบของสตง. แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit) การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน (Performance Audit) และการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) ซึ่งทุกลักษณะงานมีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าใจว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการที่จะให้สตง. มุ่งเน้นด้านการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม
โดยปกติ สตง.ก็จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีให้แก่รัฐสภาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ได้เน้นย้ำให้สตง.ต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่สำคัญทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการที่ตนเองมีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานมาตลอดช่วงชีวิตการรับราชการ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นข้าราชการกลุ่มแรกๆ ที่ได้ร่วมกันบุกเบิกการตรวจสอบในลักษณะนี้ขึ้นในสตง.ก็ว่าได้ จึงมีโอกาสใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา มาประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบในลักษณะดังกล่าว
ซึ่งโดยหลักการแล้วจะใช้เกณฑ์ที่เรียกกันว่า 3E คือ ประหยัด (Economy) ประสิทธิภาพ (Effectiveness) และประสิทธิผล (Efficiency) มาเป็นเกณฑ์วัดผลในการตรวจสอบ แต่ในปัจจุบันเกณฑ์ด้านความประหยัดจะถูกแทนที่ด้วยเกณฑ์ด้านความคุ้มค่า (Value for money) ซึ่งแทนที่จะมุ่งเน้นในเรื่องความประหยัดเพียงอย่างเดียว เราก็จะไปดูว่าหน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินไปแล้วมีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียหรือไม่แทน ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบเพื่อช่วยให้ประเทศชาติใช้จ่ายเงินงบประมาณไปอย่างชาญฉลาด (Helping the nation spend wisely)