นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเฉลี่ย 78,953 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.48 เนื่องจากกระแสความนิยมดื่มกาแฟคั่วบด และกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 26,161 ตัน/ปี (ร้อยละ 33) โดยในปี 2562 ประเทศไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปได้เพิ่มขึ้น 22,928 ตัน มูลค่า 2,633 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 11 ของโลก (ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) “กาแฟ” จึงนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีอนาคต (Future Crop) โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร และอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิ 18-25 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ที่สำคัญกาแฟน่านมีอัตลักษณ์โดดเด่นเรื่องรสชาติ และความหอม ประกอบกับจังหวัดน่านได้มีแผนพัฒนากาแฟที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปลูกกาแฟคุณภาพตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และยกระดับกาแฟน่านภายใต้ Nan Brand สร้างมูลค่าทางการค้าให้กับจังหวัดในแต่ละปีจำนวนมาก
หากมองถึงสถานการณ์ด้านตลาด ปี 2563 พบว่า แนวโน้มความต้องการเมล็ดกาแฟจังหวัดน่านเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดในจังหวัดและนอกจังหวัด โดยเฉพาะกาแฟคุณภาพดี ในขณะที่ปริมาณผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัด ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมจำหน่ายผลผลิตในรูปผลสด (เชอร์รี่) โดยร้อยละ 80 รวบรวมผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเมล็ดกะลาและสารกาแฟจำหน่ายให้แก่พ่อค้าทั้งในและนอกจังหวัด รองลงมาร้อยละ 15 จำหน่ายให้จุดรับซื้อรายย่อยในพื้นที่ ได้แก่ โรงคั่วกาแฟ และอีกร้อยละ 5 จำหน่ายให้จุดรับซื้อรายใหญ่ในท้องถิ่น เช่น น่านดูโอ้คอฟฟี่ เดอม้ง เป็นต้น เพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นกาแฟกะลา และสารกาแฟ ขายส่งให้กับพ่อค้าหรือตัวแทนภาคเหนือ ภาคกลาง และร้านค้าในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันธุรกิจด้านการผลิตเมล็ดกาแฟ และร้านกาแฟ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จังหวัดน่านมีอัตราการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี
ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดกาแฟ ของ สศท. 2 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 12,379 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 9,368 ไร่ ผลผลิตรวม 561 ตัน ผลผลิต (สารกาแฟ) เฉลี่ย 60 กิโลกรัม/ไร่ (ข้อมูลเอกภาพภาคเหนือ ณ 31 กรกฎาคม 2563) แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอท่าวังผา สองแคว บ่อเกลือ และเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเกษตรกรจะปลูกแซมในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น และพื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำ ส่วนใหญ่นิยมปลูกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์เชียงใหม่ 80 รองลงมา กาแฟโรบัสต้าสายพันธุ์ชุมพร 1 และสายพันธุ์อื่น ๆ ด้านต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,367 บาท/ไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปีที่ 4 ให้ผลผลิตเฉลี่ย (ผลสด) 396 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทน 8,712 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 2,345 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรขายได้ จำแนกเป็น กาแฟผลสด (เชอร์รี่) เฉลี่ยอยู่ที่ 18-22 บาท/กิโลกรัม กาแฟกะลา 90-105 บาท/กิโลกรัม และกาแฟสาร 150-180 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนแผนพัฒนากาแฟจังหวัดน่านให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ ปี 2563 - 2573 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมุ่งเน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจรบนพื้นฐานของศักยภาพ และอัตลักษณ์จังหวัด เน้นการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเร่งพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟสู่มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแหล่งผลิตสำคัญอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่จังหวัดน่านควรขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป โดยผลักดันให้ ศูนย์ AIC ของจังหวัด (Agritech and Innovation Center) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่เหมาะสม การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปกาแฟ Premium และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่หลากหลาย รองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร และควรสนับสนุนให้ Service Provider ซึ่งในระยะแรกอาจต้องเป็นภาคเอกชน เข้ามาดำเนินการด้านการแปรรูปกาแฟ เพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด Premium รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่ทันสมัย ปลอดภัย การยกระดับแหล่งผลิตกาแฟน่านให้เป็นศูนย์การค้ากาแฟภาคเหนือ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดน่านให้มีความโดดเด่นในเชิงนิเวศเกษตรต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจังหวัดน่านได้อย่างยั่งยืน