การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เปิดเดินขบวนรถรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ในเส้นทางกรุงเทพ-นครปฐม เป็นการยกระดับการบริการให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพบริการ มีภาพลักษณ์การให้บริการที่ดีและเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการและได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดเดินขบวนรถใหม่และเคาะระฆังส่งสัญญาณระหว่างปล่อยขบวนรถ เที่ยวปฐมฤกษ์ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ หัวหน้าหน่วยงาน ส่วนราชการ และคณะผู้บริหารการรถไฟฯ ร่วมในพิธีเปิดและร่วมเดินทางไปกับขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างกรุงเทพ-นครปฐม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า การจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟฯ สอดคล้องกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟฯ วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 วงเงินลงทุน 4,981.05 ล้านบาท และที่ผ่านมาการรถไฟฯ
ได้มีพิธีรับมอบรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์รอบแรก 39 คัน จากทั้งหมด 115 คัน จากบริษัท CRRC (China Railway Rolling Stock Corporation) หรือ CRC (Changchun Railway Vehicles Company Limited) บริษัทคู่สัญญา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา และมีการทดสอบการเดินรถทั้งระยะใกล้ และระยะไกลมากว่า 1 เดือน ก่อนจะนำมาเปิดให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ เส้นทางกรุงเทพ -เชียงใหม่ ได้เป็นเส้นทางแรกในเดือนตุลาคม 2559สำหรับการเปิดการเดินรถโดยสารชุดใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการรถไฟฯ ที่มีการเริ่มเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉก ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการรถไฟฯ ตามนโยบายของรัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ถือเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาระบบรางของประเทศให้มีความสมบูรณ์และส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ และในอนาคตการรถไฟฯ จะพัฒนาองค์กรไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ
ซึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางอย่างจริงจัง เพราะทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญและเล็งเห็นตรงกันว่า ถ้าระบบรางมีความสมบูรณ์สามารถขยายระบบทางคู่ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ จะสามารถตอบโจทย์ของการขนส่ง แก้ไขปัญหาเรื่องการจราจร และจากยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จะช่วยยกระดับการขนส่งทางรถไฟ ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุน ทำให้การขนส่งระบบรางกลับมาเป็นทางเลือกสำคัญของประชาชนคนไทยอีกครั้ง