กทม.เจอปัญหาจัดเก็บภาษีที่ดิน ยอมรับ 2-3 ล้านแปลง สำรวจไม่ทัน ปล่อยผีเจ้าของรายย่อย โยกไปปี 64 ขณะที่เตรียมรีดทุกเม็ดจากทุนใหญ่ ด้านกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นย้ำ ใครไม่ได้ใบประเมินแจ้งชำระภาษี ไม่ต้องตกใจ
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ปริมาณที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขตกรุงเทพมหานครมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาประเมินว่า อาจมีมากกว่า 3 ล้านแปลงบวก-ลบ เนื่องจากมีทั้งการไล่ซื้อตึกยุบรวมแปลงของนายทุนและแตกแขนงพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม โรงแรมสูงใหญ่มีจำนวนหน่วยห้องพักย่อยๆ จำนวนมาก นี่คือผลกระทบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น อย่าง กทม.ต้องเผชิญทางออก ต้องปล่อยไปปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ คาดว่าจะครอบคลุมขึ้นบัญชีเกือบทั้งหมด ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เช่นเดียวกับที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ทำประโยชน์ ก่อนหน้านี้ได้เคยสำรวจเพื่อจัดทำผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ ซึ่งปัจจุบันในฐานะที่ดินที่ต้องเรียกเก็บภาษี ยังไม่สำรวจครบทุกแปลงดังกล่าว ต้องปล่อยให้แต่ละเขตดำเนินการ
รายงานเดียวกันนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่า แต่ละแปลงอาจปรับเป็นพื้นที่เกษตร ลดทอนภาษี หรือได้รับผ่อนปรนไม่เสียภาษีเลย (บุคคล) 3 ปี นับจากปี 2563 แล้วก็ตาม แต่หากสำรวจในปีถัดไปแล้วพบว่า ที่ดินเกษตรกลับปล่อยให้มีหญ้าขึ้นรก ต้นไม้ล้มตายจะอยู่ในข่ายที่รกร้างเสียภาษี 0.3% โดยมีแหล่งข่าวจาก กทม.ยอมรับว่า มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกจำนวนมากที่ยังสำรวจไม่ทัน ต้องชะลอสำรวจ และเรียกเสียภาษีในปีถัดไป ซึ่ง กทม.ไม่กังวลเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อความถูกต้องแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจมากกว่า เนื่องจากมีความชัดเจนสามารถประเมินได้ที่สำคัญมีมูลค่าสูงที่ กทม.จะมีรายได้เข้ามา อย่าง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงงาน ร้านค้าพาณิชยกรรม รวมถึงคอนโดมิเนียมที่มีขนาดใหญ่ จากนั้นค่อยเรียกเก็บภาษีเจ้าของที่ดินรายย่อยๆ
ขณะพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ที่ขยายมาจาก สุขุมวิท อย่างรัชดา-พระราม9 แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตห้วยขวาง ยอมรับว่า สำรวจไม่ครบทุกแปลง แต่มุ่งเน้นที่ดินแปลงใหญ่เจ้าของกิจการ ส่วนที่ดินซึ่งเป็นสวนมะนาว ที่ดินแปลงรัชดาฯ-พระราม 9 มองว่า เป็นกระแสค่อนข้างดัง และเป็นที่ดินใจกลางเมือง แต่เมื่อเจ้าของที่ดินทำเป็นแปลงเกษตร ก็ต้องเรียกเก็บในอัตราเกษตร แต่หากระบุชื่อในนามบุคคลก็ต้องยกเว้นจัดเก็บไป 3 ปี (63-65) แต่เข้าใจว่าที่ดินทั้ง 2 แปลง 50 ไร่ ถือในนาม บริษัท แหลมทองค้าสัตว์ แต่เนื่องจากเขตห้วยขวางมีปริมาณคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เกิดขึ้นมาก ยอมรับว่า รายได้มาจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่ลดหย่อนแล้ว เหลือจัดเก็บภาษีเพียง 10% ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก
สอดคล้องกับสำนักงานเขตธนบุรี มีปริมาณสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน 11,000 แปลง สิ่งปลูกสร้างกว่า 10,000 หน่วย ซึ่งยอมรับว่า ยังมีความวุ่นวายสูง เนื่องจากสำรวจไม่ทัน หลายแปลง หลายอาคาร ต้องโยกไปปีถัดไป ที่สำคัญกรณีที่เขตออกใบประเมินแจ้งเสียภาษีไปแล้ว กลับมามีปัญหาว่า ใบแจ้งราคาประเมินกับตัวผู้เสียภาษีอยู่คนละที่กัน เช่นเดียวกับสำนักงานเขตคลองสาน ย่านฝั่งธนบุรี มองว่า ปัจุบันความเจริญเข้าพื้นที่จากรถไฟฟ้าและเมืองขยายมายังฝั่งธนบุรี ส่งผลให้มีคอนโดมิเนียม โรงแรม ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมาก ตลอดจนราคาประเมินปรับสูงขึ้นมาก จากหลักหมื่นขยับเป็นหลักแสน
ด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แหล่งข่าวรายหนึ่งสะท้อนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามต่างจังหวัดบางแห่งสำรวจและออกใบแจ้งราคาประเมินเพื่อชำระภาษีครบแล้ว เนื่องจากเป็นจังหวัดเล็ก มีสิ่งปลูกสร้างไม่หนาแน่นเหมือน กทม. อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กทม. แจ้งมายังกรมว่า สำรวจและประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ทัน ต้องโยกไปปีงบ ประมาณ 2564 โดยแนะนำว่า ปีแรก ควรปล่อยผีไปก่อน หาก มองด้วยตาเปล่า มูลค่าที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ล้านบาทให้ปล่อยไป แม้จะสงสัยว่า เจ้าของ จะ ให้เช่าหรือเป็นบ้านหลังที่สองขณะการประเมินสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกรมธนารักษ์เพิ่งประกาศออกมา ยอมรับว่าค่อนข้างยาก ขอให้ท้องถิ่นปล่อยไปในปีแรก เพียงคำนวณคร่าวๆ บางส่วนของอาคารเท่านั้น