หลังจากที่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของพระราชบัญญัติ (พรบ.) บริหารงานบุคคลท้องถิ่นไปแล้ว ซึ่งธรรมดาว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน และร่างกฎหมายฯดังกล่าวก็อยู่ในเงื่อนไขนี้ ทั้งนี้การที่นำเสนอให้สาธารณะได้รับรู้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ ก่อนที่กฎหมายจะถูกนำออกมาใช้ หากมีส่วนใดควรปรับปรุงแก้ไขก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
กฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่นตั้งแต่อดีตมีปัญหาต่างๆกัน บางเรื่องแตกประเด็นใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ดังนั้นทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย จึงชวนตั้งข้อสังเกตุในข้อห่วงใยของคนท้องถิ่น จาก4ช่วงของกฎหมายที่ผ่านมา (1) ช่วงแรกปี 2542-2544 ที่เริ่มใช้บังคับ พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ กรมการปกครอง ส่วนกลาง สมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
(2) ช่วงปี 2545-2550 เกิดการทุจริต แสวงประโยชน์ สมยอมของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อความเติบโตก้าวหน้า เป็นจุดเริ่มของการแสวงประโยชน์จากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องผู้กำกับดูแล โดยเฉพาะการบริหารบุคคล การเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง วิ่งของบประมาณ การกู้เงิน การฝึกอบรม ค่าเบี้ยตอบแทนกรรมการต่างๆ ของชำร่วยของขวัญอปท. ที่ต้องได้รับ เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีมากเกือบสองแสนคน การแสวงประโยชน์ง่ายไปถึงกลุ่มการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการ เพราะระบบอุปถัมภ์ ขาดการควบคุม กำกับที่มีประสิทธิภาพ จึงเกิดการบริหารงานกินตามน้ำ
(3) ช่วงปี 2551-2558 ต้องแก้ไขกฎหมายบริหารงานบุคคลใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 แต่รัฐบาล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำได้สำเร็จ สถานการณ์จึงทรงกับทรุดเรื่อยมา โดยเฉพาะการทุจริต และงบประมาณโครงการฯ แม้ในช่วงปี 2557-2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าเช็คบิลทุจริตคอร์รัปชั่น (4) ช่วงปัจจุบันปี 2559 สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ส่วนกลาง ยังคงหวงอำนาจ และมีปัญหาศึกภายในของอปท. ในการเข้าสู่ระบบแท่งของข้าราชการ ปัญหายุบรวม หรือควบรวม อปท. ซึ่งท้องถิ่นมีกลุ่มมีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม โดยเฉพาะสามกลุ่มใหญ่คือ ข้าราชการลูกจ้างส่วนท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มผู้กำกับดูแล
สมมติฐานที่เป็นคำถามว่า เหตุใดต้องลอกการปกครองท้องถิ่น มาจากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นฯ และเหตุใดข้าราชการส่วนท้องถิ่นจึงถูกลงโทษทางวินัย อาญามาก ซึ่งเป้าหมายหลักของข้าราชการส่วนท้องถิ่นมี 4 ข้อ (1) เข้าสู่ตำแหน่งอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรี (2) ทำงานตามระเบียบอย่างถูกต้อง ปลอดภัย สบายใจไม่ถูกกดดัน (3) เติบโตอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี ไม่ซื้อขายตำแหน่ง ต่างตอบแทน ล็อคตำแหน่ง ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ (4) ก้าวหน้าในตำแหน่งสายงานจนถึงจุดสูงสุดได้ ไม่ใช่ให้ข้าราชการส่วนกลาง เข้าควบคุมกำกับดูแลทั้งหมด เช่น ระดับท้องถิ่นอำเภอจังหวัด
ทั้งนี้ในข้าราชการส่วนหัว ได้แก่ ปลัด รองปลัด ผอ.กอง ผอ.สำนักฯของ อปท. ในช่วงปี 2545-2546 เป็นต้นมาถึงปี 2558 รวมระยะเวลาที่ผ่านมา 12-13 ปี บรรดาข้าราชการระดับหัวดังกล่าว เข้าสู่ตำแหน่งด้วยระบบอุปถัมภ์กว่าร้อยละ 70-80 และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 50-60 เข้าสู่ตำแหน่งมิชอบ การแลกซื้อขายตำแหน่ง การถอนทุนรับใช้ทดแทนฝ่ายการเมือง ซึ่งคนที่กำลังเติบโตอยู่บนส่วนหัวของท้องถิ่น ทำให้ อปท. คาดหวังในระบบคุณธรรมค่อนข้างยาก
การพัฒนาองค์กรที่สำคัญคือการบริหารงานบุคคล ที่ต้องอาศัยคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม แต่ในท้องถิ่นต้องใช้ระบบควบคุมกำกับ เพราะส่วนหนึ่งงานบุคคลถูกยึดโยงเป็นระบบรวมศูนย์ไว้ที่ หัวหน้าหน่วย คือ นายก อปท. อีกส่วนหนึ่งโยงไว้กับระบบราชการส่วนภูมิภาค คือ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะมีองค์กรบริหารงานบุคคล ก.จังหวัด ที่มีนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามาเกี่ยวข้อง แง่ดีมีความเด็ดขาด รวดเร็วในการแก้ไขปัญหา แต่ระบบท้องถิ่นต่างจากส่วนภูมิภาคที่ใช้ระบบอาวุโส และการเข้าสู่ตำแหน่งสายงาน การเมืองไม่สามารถล้วงลูกได้
มีประเด็นคำถามว่า ปลัด อปท. ควรทำหน้าที่คล้ายปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวงฯได้หรือไม่ โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานประจำไปทั้งหมด แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายในระดับปฏิบัติ ให้อำนาจแก่นายก อปท.มาก ต่างจากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบเชิงนโยบายเท่านั้น ฉะนั้นนายกอปท. จึงต้องรับผิดชอบในการ อนุมัติงบ ฎีกาเบิกเงิน เบิกจ่ายเช็ค ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ อปท. คือผู้บริหารท้องถิ่น หรือนายก อปท. จำกัดในเรื่องวุฒิภาวะการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย ทั้งเรื่อง คุณวุฒิและประสบการณ์ราชการที่แตกต่างจากงานเอกชน
“ท้องถิ่น” หรือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หลีกหนีการเมืองไม่พ้น เพราะท้องถิ่นคือการเมือง ที่ออกแบบโครงสร้างให้ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง จำลองย่อแบบมาจากการปกครองประเทศ หลายแห่งจึงมีสส.ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นสร้างฐานอำนาจอีก อปท.จึงอยู่ใต้กำกับนักการเมืองท้องถิ่นทุกอย่าง ส่งผลขวัญกำลังใจข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าการเลื่อนระดับ ตำแหน่ง ที่ตกอยู่ในกำกับของอำนาจนักการเมืองท้องถิ่นหมดทุกอย่าง
การจัดสรรประโยชน์ของคณะกรรมการ ก.จังหวัดและผู้เกี่ยวข้องเกิดขึ้นตั้งแต่การเลื่อนระดับ ปรับตำแหน่ง สอบแข่งขัน สอบคัดเลือก เริ่มตั้งแต่ใช้ พรบ. ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน เสียหายต่อระบบคุณธรรม แม้มองภายนอกมีเอกภาพ กระจายอำนาจ แต่ภายในมีนักการเมืองอยู่เหนือข้าราชการ ลูกจ้าง หากขาดระบบคุณธรรม แต่ถ้าให้ข้าราชการระดับ สายผู้บริหาร อยู่นานเพื่อให้อปท.เข้มแข็ง อาจสร้างอิทธิพลข้าราชการเสียเอง วิธีการแก้ไขต้องมีวาระการดำรงตำแหน่ง
ปัญหาที่สำคัญที่สุดของข้าราชการส่วนท้องถิ่น คือผลกระทบที่ได้รับจากการต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มช่วงชิงคะแนนเสียงเพื่อให้ได้ตำแหน่ง แบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างรุนแรง ทำให้การบริหารงานด้อยลง ข้าราชการเก่งไม่อยากอยู่ คนอยู่ไม่มีตำแหน่งที่จะไป นี่จึงเป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นความห่วงใยจากคนท้องถิ่น