นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีว่า ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในช่วงพายุโนอึล ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2563 เป็นต้นมา และจากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ทำให้มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทานในเขตจังหวัดอุทัยธานีมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพิ่มมากขึ้น โดยอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมรวม 86.01 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่าง ณ ปัจจุบัน 116.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72.52 (ของความจุ 160 ล้าน ลบ.ม.) จากเดิมก่อนพายุเข้ามีน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียง 35.12 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21.95 และ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมรวม 38.40 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่าง ณ ปัจจุบัน 38.91 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74.83 (ของความจุ 52 ล้าน ลบ.ม.) จากเดิมก่อนพายุเข้ามีน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียง 6.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12.73 และจากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 ทำให้เกิดฝนตกหนักในเขตทางตอนบนของลุ่มน้ำสะแกกรังและในเขตจังหวัดอุทัยธานี วัดปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 จำนวน 123.5 มิลลิเมตร และในเขตอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 100 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบทำให้มีปริมาณน้ำทางตอนบนของลุ่มน้ำสะแกกรังในลำห้วยคลองโพและลำห้วยสาขาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่วันที่ 15-20 ตุลาคม 2563 จำนวน 5 ตำบล 26 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อยาง ตำบลไผ่เขียว ตำบลหนองหลวง และตำบลพลวงสองนาง บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 162 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 21,084 ไร่ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที โดยจังหวัดอุทัยธานีได้สั่งการให้ทุกอำเภอแจ้งประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่ง และได้แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หากงบประมาณไม่เพียงพอให้แจ้งอำเภอเพื่อประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบ ซึ่งโครงการชลประทานอุทัยธานีได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยได้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนวังร่มเกล้าสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อให้มวลน้ำจำนวนมากจากตอนบนของลำห้วยคลองโพและลำห้วยสาขาไหลลงสู่เขื่อนวังร่มเกล้าได้สะดวก ลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่บ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนวังร่มเกล้า โครงการชลประทานอุทัยธานีได้ควบคุมการระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรัง เขตอำเภอเมืองอุทัยธานี
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้พบปะเกษตรกรพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาและให้กำลังใจแก่เกษตรกรและประชาชนผู้ประสบอุทกภัย พร้อมฟังรายงานสถานการณ์เขื่อนวังร่มเกล้า และติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำสะแกกรังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจกหญ้าหมัก 20 ถัง หญ้าแพงโกล่า 120 ฟ่อน และเกลือแร่ 30 ก้อน สำหรับโคกระบือแก่เกษตรกรอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน มีแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ในเขตอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ปีงบประมาณ 2566-2568 ดังนี้ โครงการคันกั้นน้ำคลองโพในเขตจังหวัดอุทัยธานี งบประมาณ 150 ล้านบาท โครงการคันกั้นน้ำคลองลำปาง งบประมาณ 80 ล้านบาท และโครงการคันกั้นน้ำคลองข่อยเป้า งบประมาณ 120 ล้านบาท