รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ความเห็นรายงาน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 30 ตุลาคม 2563...มีรายละเอียดดังนี้
เกิน 45 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อัตราการติดเชื้อสูงขึ้นเร็วมาก มากกว่าหนึ่งล้านคนในสองวัน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 572,096 คน รวมแล้วตอนนี้ 45,269,102 คน ตายเพิ่มอีก 7,192 คน ยอดตายรวม 1,184,988 คน
อเมริกา ติดเพิ่ม 94,183 คน รวม 9,198,880 คน ตายเพิ่มเกินพันคนต่อวัน ขณะนี้ตายไปแล้ว 234,035 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 49,281 คน รวม 8,088,046 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 26,106 คน รวม 5,494,376 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 17,717 คน รวม 1,581,693 คน
อันดับ 5-10 ตอนนี้ ฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา โคลอมเบีย สหราชอาณาจักร และเม็กซิโก ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
พรุ่งนี้สหราชอาณาจักรจะติดเชื้อรวมเกินล้านคนเป็นประเทศที่ 9
อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น
หลายต่อหลายประเทศในยุโรป ก็ยังติดกันหลักร้อยถึงหลักพัน
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดเพิ่มกันหลายร้อย ส่วนจีน และออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และนิวซีแลนด์ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ในเมียนมาร์ ทะลุห้าหมื่นคนไปแล้ว เมื่อวานติดเพิ่มอีก 1,331 คน ตายเพิ่มอีก 27 คน ตอนนี้ยอดรวม 50,403 คน ตายไป 1,199 คน อัตราตายตอนนี้ 2.4%
ในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป อุณหภูมิเย็นลง การแพร่ระบาดของไวรัสโรค COVID-19 จะรุนแรงมากขึ้น
เราจะสังเกตได้ว่า ก่อนหน้านี้หลายประเทศในยุโรปยืนกรานว่าจะเน้นการเปิดประเทศให้มีการทำมาค้าขายและเดินทางกันมากขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนมา และประกาศทำนองว่าหัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ล็อคดาวน์ประเทศอย่างแน่นอน เพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ
แต่สุดท้ายแล้ว มาตรการการเปิดการเดินทางระหว่างกัน ก็ทำให้เกิดการระบาดซ้ำอย่างรุนแรง นานกว่าเดิม 1.5 เท่า และแรงกว่าเดิมโดยยอดสูงสุดต่อวันพุ่งไปถึง 7 เท่าโดยเฉลี่ย บางประเทศมากกว่าเดิมเกิน 20 เท่า
เดิมมีประเทศที่หนักหนา ติดเกินล้านคนแค่อเมริกา อินเดีย บราซิล และรัสเซีย แต่สุดท้ายเพียงไม่นาน ก็มีเกินล้านมาอีกหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา โคลอมเบีย
ความมั่นใจของใครต่อใครว่า "ฉันมั่นใจในระบบของฉัน ฉันจะทำการตรวจคัดกรอง และรีบติดตามคนที่ติดเชื้อที่เข้ามาในประเทศให้ได้โดยเร็ว และฉันจะควบคุมการระบาดให้ได้โดยจะทำการจัดการเฉพาะจุด" นั้นใช้ไม่ได้ผลกับการจัดการการระบาดซ้ำของโรค COVID-19 ครับ
หนึ่ง เพราะธรรมชาติของโรคมันมีคุณสมบัติที่แพร่ง่าย และเกิดจากการพบปะติดต่อกัน พอเปิดเกมส์ให้ติดต่อกันมากมายทั้งจากการเปิดประเทศและมุ่งเน้นการท่องเที่ยว ก็เข้าทางไวรัสแน่นอน
สอง โรคนี้มันดันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษามีจำกัดมาก ทำให้เวลาคนติดเชื้อจำนวนมาก รักษาก็ไม่ค่อยได้ และป้องกันได้แต่การรณรงค์ใส่หน้ากาก ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ทำไม่ได้ อยู่ห่างก็ไม่ได้แล้วเพราะคนเยอะ ล้างมือก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง จึงเห็นปรากฏการณ์เอวังด้วยประการฉะนี้
สาม พอระบาดซ้ำ ธรรมชาติของการระบาดระลอกใหม่ดันต่างจากระลอกแรก เพราะมักจะโผล่มาแบบไม่รู้ตัว พอเห็นเคสนึง ก็มักมีคนติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก เดินทางกระจายไปทั่ว ทำให้เห็นปรากฏการณ์แบบดาวกระจาย การจัดการเฉพาะจุดจึงมักไม่ได้ผล ระยะเวลาในการจัดการก็จะนานขึ้นเป็นเงาตามตัว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงเห็นหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ออกมาประกาศว่าจำเป็นต้องล็อคดาวน์อีกครั้ง ระยะเวลาเป็นเดือน แถมประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังยอมรับว่า มันรุนแรงเกินกว่าฉากที่แย่ที่สุดที่เคยคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้เพราะการคาดการณ์ฉากต่างๆ จากการทำโมเดลนั้น คนทำส่วนใหญ่มักตั้งสมมติฐานที่ไม่ได้ยืนบนพื้นฐานข้อมูลที่ตรงกับสถานการณ์จริง ยิ่งหากเป็นการระบาดของโรคใหม่แบบโควิดนี้ การตั้งสมมติฐานและนำมาคาดการณ์นั้นจึงมักได้ผลไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก
แนวทางการคาดการณ์ที่น่าจะใกล้เคียงกว่าคือการเฝ้าสังเกต เรียนรู้จากประเทศต่างๆ ที่เผชิญเหตุการณ์ระบาดซ้ำมาก่อนเรา และวิเคราะห์ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนรับมือ
นายกรัฐมนตรีของเยอรมันออกมาประกาศเรื่องล็อคดาวน์ในเดือนพฤศจิกายน โดยตั้งความหวังว่าจะได้ผล และจะช่วยให้ประชาชนในประเทศสามารถพบปะกันได้ในช่วงคริสตมาส เชื่อว่าเราทุกคนก็ส่งกำลังใจให้เค้าสามารถจัดการได้ดังที่หวังไว้
ส่วนเมืองไทยนั้น ประกาศเปิดประเทศหาเงินจากการท่องเที่ยวของคนต่างชาติ แถมจะลดแลกแจกแถมจูงใจด้วยสารพัดวิธี รวมถึงล่าสุดจะลดเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และออกข่าวว่าจะลดลงไปอีก คุยว่ามั่นใจในระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และถึงติดเชื้อเป็นพันเป็นหมื่นก็มีทรัพยากรเอาอยู่
ติดตามดูแล้วก็ได้แต่รู้สึก"สังเวช"
สถานการณ์แบบนี้ คงได้แต่เอาใจช่วยพวกเราประชาชนทุกคน ให้รักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พบปะคนน้อยๆสั้นๆ เลี่ยงที่แออัดหากทำได้ และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว ถ้าไม่สบายให้รีบไปตรวจ...
เยอรมันอาจได้สงบและพบปะกันตอนช่วงคริสตมาส
แต่ช่วงเวลานั้นของเรา อาจไม่เหมือนเค้าครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย