กล้วยถือเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมและมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นก็มีบางครั้งที่ทำให้กล้วยไม่สามารถขายออกสู่ตลาดได้ เนื่องจากในตลาดมีผลไม้อื่นๆ ด้วย ดังนั้น การแปรรูปคือหนึ่งทางออกที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วยได้ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำในใต้” คือหนึ่งกลุ่มที่ได้ได้นำ “กล้วยไข่” มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “กล้วยกรอบแก้ว” รังสรรค์สู่ขนมทานเล่นคุณภาพเยี่ยม
นางหนูจัด ชุมแก้ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำในใต้ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ที่อำเภอศรีนครินทร์ มีการปลูกผลไม้จำนวนมากและหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้กล้วยที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากในปี 2547 เกิดผลไม้ล้นตลาด ส่งผลให้กล้วยในชุมชนมีราคาที่ตกต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงได้พยายามหาทางในสร้างมูลค่าให้กับกล้วย
ที่ใช้วัตถุดิบกล้วยนั้น เพราะในอำเภอศรีนครินทร์ เน้นปลูกกล้วยเป็นผลไม้หลักกว่า 50% จากพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่เหมาะแก่การแปรรูปอีกด้วย สำหรับการผลิตนั้นมีวิธีง่าย เพียงแค่นำกล้วยที่ทอดแล้วมาเทลงในน้ำเชื่อม แล้วใช้ตระแกงอันใหม่กดให้กล้วยจมลงในน้ำเชื่อมทั่วถึงกัน แล้วตักออกมาใส่กระจาดไม้ไผ่ ผึ่งไว้ให้กล้วยสะเด็ดน้ำเชื่อมสักครู่ แล้วนำกล้วยกลับมาทอดอีกครั้ง โดยใช้กระทะใบใหม่ ตั้งน้ำมันให้ร้อน ทอดให้กล้วยมีสีเหลืองเข้มกว่าเดิมเล็กน้อย นำขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำมันอีกครั้ง ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาบรรจุถุงพร้อมจำหน่ายทันที
“นอกจากนี้ กล้วยกรอบแก้วหรือกล้วยฉาบ อาจจะใช้กล้วยดิบ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยหักมุก นำมาฝานบางๆ ตามยาว หรือตามขวาง อาจจะผึ่งลมสักครู่ หรือฝานลงกระทะทันทีก็ได้ และทอดในกระทะที่ใส่น้ำมันท่วม เมื่อชิ้นกล้วยสุกจะลอย ก็ตักขึ้นและซับน้ำมันด้วยกระดาษฟาง จากนั้นอาจนำไปคลุกเนย เรียกว่า กล้วยอบเนย หรือฉาบให้หวานด้วยการนำไปคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวจนเกือบแห้งในกระทะ เรียกว่า กล้วยฉาบ หรือนำไปคลุกในน้ำเชื่อม แล้วเอาลงทอดอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เรียกว่า กล้วยกรอบแก้ว ขณะที่กล้วยของเราจะใช้กล้วยไข่เป็นหลัก” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำในใต้ กล่าว
นางหนูจัด บอกอีกว่า กล้วยเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านรู้จักกันมานานและปลูกกันทั่วไป และมีหลายหลายชนิด ซึ่งเต็มไปด้วยประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยหักมุก กล้วยทองเดช กล้วยทองเสา เป็นต้น และในอดีตกล้วยถูกนำมาเป็นอาหารให้เด็กเล็กๆ โดยการมาบดละเอียดป้อนให้เด็กรับประทาน เนื่องเพราะมีคุณค่าและโภชนาการสูง ทั้งในอดีตในพื้นที่ตำบลทุ่งนุ้ยซึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่มีขนมหรืออาหารแปลก ๆ ใหม่ๆ ให้รับประทานเป็นของว่างหรือของทานเล่น ก็จะนำกล้วยมาต้ม ปิ้ง ย่าง ทอด หรือนำมาทำอาหารหวาน เช่น เชื่อม บวชชี เป็นต้น
ปัจจุบันจากกล้วยที่เคยขายได้โลละ3-4 บาท แต่หลังจากมีการแปรรูปเป็นกล้วยกรอบแก้วที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความความอร่อย ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนจนสามารถสร้างรายได้กว่า 50,000-60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในช่วงเทศกาลก็ยังเพิ่มรายได้กลายเป็นถึงหลักแสนบาทต่อเดือน