ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
“ธรรมนัส” เล็งยึดที่ ส.ป.ก. 2 แสนราย จากเกษตรกรเสียชีวิตไร้ทายาทรับช่วง
17 ธ.ค. 2563

“ธรรมนัส"จี้ทายาทผู้เสียชีวิตในเขต ส.ป.ก. กว่า 2 แสนราย ไม่แสดงตนรับสิทธิ เล็งยึดคืนแจกใหม่ ยืนยันออกประกาศทวงคืนอำนาจ คปก. ต้องการแก้ปัญหาเอื้อนายทุน ย้ำตั้งโรงงานได้ แต่ต้องเกี่ยวเนื่องภาคการเกษตรในพื้นที่เท่านั้น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำรวจที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่มีการถือครองโดยเกษตรกรทั่วประเทศใน 72 จังหวัด พบมีเกษตรกรเสียชีวิต 275,807 ราย แต่ไม่มีทายาทมารับช่วงต่อ ดังนั้น จึงให้ ส.ป.ก.สำรวจข้อมูลเชิงลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หากผู้เสียชีวิตไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ขอรับสิทธิ ก็ให้ยึดพื้นที่คืนเพื่อแจกให้เกษตรกรรายอื่นตามบัญชีที่มีอยู่

“สั่งให้ ส.ป.ก.สำรวจในรายละเอียดว่า ทำไมทายาทไม่เข้ารับประโยชน์ เบื้องต้นคาดว่า ในจำนวนนี้อาจมีการถือครองแบบไม่ถูกต้อง หรือได้สิทธิมาโดยมิชอบตั้งแต่แรก เช่น ซื้อมา ทายาทจึงไม่กล้าเข้าขอรับสิทธิ เพราะขาดคุณสมบัติ ในการถือครอง แต่จำนวน 2 แสนกว่ารายนี้ ต้องลงไปดูรายละเอียดว่า มีพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ถือครองเท่าไหร่”

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ถือครองพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.ทั่วประเทศ รวม 2,938,929 ราย จำนวนแปลง 3,760,315 แปลง บนพื้นที่ 36,362,084 ไร่ ปี 2563 มีการจัดที่ดินเพื่อแจกเกษตรกรจำนวน 45,755 ราย แบ่งเป็นจำนวน 52,009 แปลง บนเนื้อที่ 411,546 ไร่ จากที่ดินส.ป.ก.ทั่วประเทศจำนวน 4 ล้านไร่ เหมาะสมทำการเกษตร 3.5 ล้านไร่ และไม่เหมาะสมทำการเกษตรอีก 5 ล้านไร่

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งที่ทำกิน การจัดสรรที่ดิน ดังกล่าว ส.ป.ก.จะเข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐาน ถนน น้ำ และไฟฟ้าก่อน โดยจะจัดโซนเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับเอกชนทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ เมื่อเกิดเป็นชุมชนแล้ว มีสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์แล้ว เกษตรกรเหล่านี้จะไม่ทิ้งถิ่นฐาน และไม่มีปัญหาการขายที่ให้กับนายทุนตามมา

สำหรับประกาศกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีการแก้ไขดุลพินิจของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมระดับจังหวัด (คปกจ. )ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ดุลพินิจที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งเพราะตามกฎหมายของ ส.ป.ก. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้ ในกรณีที่การลงทุนเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรรม ซึ่งมีหลายธุรกิจที่ คปจ.ให้ความเป็นชอบที่เอื้อต่อนายทุน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เรื่องรายการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกำหนดตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน(ฉบับที่7)พ.ศ.2532 พ.ศ.2563 ตามที่ คปก.เสนอให้ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขตของกฎหมาย ที่เป็นปัญหาสะสมกันมายาวนาน เพื่อไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หากตีความตามกฎหมายฉบับเก่า ที่กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติไว้กว้างมากแบบครอบจักรวาล ผู้ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ต้องใช้ดุลพินิจ ทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดตีความแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน

ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันด้วยว่า สำหรับการแก้ระเบียบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ไม่เอื้อนายทุน การเข้ามากำกับดูแล ส.ป.ก. จะน้อมนำพระราโชบาย ร.9 ที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2518 มาใช้ เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน

“ไม่มีไปเอื้อนายทุน มีแต่จะทำในสิ่งที่ปกปิดและกระทำผิด กฎหมาย ส.ป.ก.แก้ให้มันถูกต้องให้ตรงกับพระราชบายของพระองค์ผู้ก่อตั้ง คือ ร.9 ทั้ง 9 ข้อ โดยจะแก้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องทำให้ครบ”

ขณะที่นายวิณะโรจณ์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า เมื่อกฎหมายให้ใช้ดุลพินิจ จึงเกิดการตีความกฎหมายและผลการใช้ดุลพินิจของ คปจ.ที่แตกต่างกันไป 72 จังหวัดที่มีที่ ส.ป.ก. ตีความการใช้ประโยชน์บนที่ดิน ส.ป.ก.ออกไปแตกต่างกัน 72 อย่าง เรียกได้ว่า 72 จังหวัด 72 มาตรฐาน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...