หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วตัวเกี่ยวกับวัคซีน สปกนิค วี ของรัสเซีย โดยระบุว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 91..6 % และราคาถูก
4 ก.พ. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า โควิด 19 วัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย
ในที่สุดข้อมูลการศึกษาระยะที่ 3 วัคซีน Sputnik V ได้มีการเผยแพร่ในวารสารชื่อดัง Lancet กลบข้อกล่าวหาที่เคยคลุมเครือในอดีต ประสิทธิภาพสูงถึง 91.6% โดยวัคซีนของรัสเซียตั้งชื่อตามยานอวกาศ ที่เคยสู่อวกาศเป็นเครื่องแรกของโลก
ข้อมูลประสิทธิภาพค่อนข้างชัดเจนมากในการศึกษาวิจัย วัคซีน Sputnik V เป็นไวรัส Vector เช่นเดียวกับ AstraZeneca ที่ใช้ adenovirus เป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์มนุษย์แล้วให้เซลล์มนุษย์สร้างโปรตีนเปลือกผิวของไวรัสโควิด ที่เรียกว่าสไปรท์โปรตีน ส่วน AstraZeneca ใช้ adenovirus ของลิงชิมแปนซี เพื่อหวังหลบหลีกภูมิต้านทานของมนุษย์ ใช้ 2 เข็มเหมือนกัน
วัคซีนSputnik V ของรัสเซียใช้ adenovirus ของมนุษย์ แต่ใช้ไวรัส 2 ตัว คือ adenovirus 5 และ adenovirus 26
การฉีดใน 2 เข็ม วัคซีนที่ใช้ฉีดจะต่างชนิดกัน เช่นครั้งแรกให้ adenovirus 5 เข็มที่ 2 จะให้ adenovirus 26 เพื่อป้องกันภูมิต้านทานต่อ adenovirus ที่ฉีดในเข็มแรก มารบกวนการสร้างภูมิต้านทานของเข็มที่ 2 ซึ่งก็มีเหตุผล
จากการทดลองของรัสเซียพบว่า ถ้าให้ไวรัสชนิดเดียวที่ เป็น vector ตัวเดียวกัน การกระตุ้นเข็มที่ 2 ภูมิต้านทานจะขึ้นน้อย ไม่เหมือนกับการใช้ไวรัสต่างชนิด ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงมากกว่า
ดังนั้น วัคซีน Sputnik V ของรัสเซียจะฉีดเข็มที่ 1 และ 2 จะต้องมีการแยกแยะจากกัน จะไม่ฉีดไวรัสเวกเตอร์ตัวเดียวกัน เหมือนอย่างใน AstraZeneca
ข้อมูลที่ลงพิมพ์ในวารสาร Lancet ทำให้วัคซีนของรัสเซีย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
วัคซีน Sputnik V ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว 17 ประเทศ และให้ทะเบียนแบบปกติ 1 ประเทศ
ราคาที่ประกาศไว้บนหน้าเว็บของบริษัทก็บอกไว้ว่าราคาไม่เกิน 10 เหรียญ US ขึ้นอยู่กับการต่อรอง