ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2 “ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม” โดยมี ผู้บริหาร นักวิชาการ ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพเข้าร่วมประชุม กว่า 1,500 คน โดยให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ได้รับการยืนยัน ยกย่องในระดับนานาชาติ โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงตามสภาวะสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการปรับเปลี่ยนของประชาชนในประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นการรับฟัง หารือข้อเสนอที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีความยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งต้องมองหลายด้าน จากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งรัฐ กึ่งรัฐ เอกชน ประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งการประคับประคอง การพัฒนาและสนับสนุน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวเจ้าหน้าที่ต้องมีความสุขในการทำงาน โดยมีกลยุทธ์ด้านความเป็นเลิศ 4 ด้านดังนี้ 1.การเสริมสร้างและการป้องกันที่เป็นเลิศ เป็นหัวใจของงานสาธารณสุขของประเทศ ที่จะดำเนินการให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดี ไม่ป่วย 2.ระบบบริการเป็นเลิศ คือเมื่อประชาชนเจ็บป่วยแล้ว ต้องได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนชัดเจน อาทิ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เป็นการวางรากฐานบริการขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน รวมทั้งการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลใหญ่ 3.บุคลากรเป็นเลิศ บุคลากรสาธารณสุขต้องได้รับการพัฒนาด้านความรู้ ทักษะ ให้สามารถบริการประชาชนได้ดีที่สุด 4.ระบบบริหารจัดการเป็นเลิศ คือระบบบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ระบบข้อมูลชัดเจน รวมทั้งเทคโนโลยีได้รับการพัฒนา
“เราต้องร่วมมือ ร่วมใจ บูรณาการสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ต้องการแบ่ง ผู้ซื้อบริการ ผู้จัดบริการ ที่ชัดเจน จนเกิดการต่อรองเพื่อตนเอง ขอให้เป็นการต่อรองเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยผู้ซื้อบริการ ขอให้ต่อรองเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี ส่วนผู้จัดบริการต้องต่อรอง เพื่อให้สามารถจัดบริการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีความร่วมมือ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันที่จะดำเนินการเพื่อประชาชน โดยจะนำผลจากการประชุมจากผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ไปกำหนดเป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชัดเจน สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าที่ได้รับในปัจจุบันนี้แน่นอน”