ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สภา เขาควาย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,683 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 99.8 ระบุ สภา มีแต่ปัญหารอบด้าน เจอแต่การเมืองเก่า สมาชิกไม่เชื่อฟังประธานฯ พูดจาเสียดสี ทำงานไร้ประโยชน์ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ร้อยละ 99.4 ระบุพบสมาชิกสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย แต่กลับไม่มีวินัย ฝ่าฝืนกฎ เสียเอง ร้อยละ 98.7 ระบุ พบเห็น การอภิปรายที่พูดเรื่องเดิม ๆ รู้อยู่แล้ว เอาข้อมูลจากสื่อมาพูด ขาดหลักฐานใหม่ ร้อยละ 97.5 ระบุ รู้สึกผิดหวัง ต่อ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ร้อยละ 96.9 ระบุ ติดตามการอภิปรายมาไร้ประโยชน์ คาดว่าประชาชนจะเดือดร้อน จะต้องทุกข์มากขึ้นเรื่อง ปัญหาปากท้อง ปัญหาเงินในกระเป๋าของตนเอง ต่อไป
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.7 ระบุ พบเห็นสมาชิกใช้สภา เป็นเวทีแสดงผลงานของตนเองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ ปานกลาง ร้อยละ 19.9 และ ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่เห็นเลย ร้อยละ 8.4
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 รู้สึกเบื่อหน่าย ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รองลงมาคือ ปานกลางร้อยละ 21.4 และค่อนข้างน้อยถึงไม่เบื่อเลย ร้อยละ 14.7 ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ปัญหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ชี้ให้ประชาชนเห็นแต่ปัญหารอบด้านที่นักทฤษฎีทางสังคมวิทยาเขาเรียกกันว่า ปัญหาเขาควาย (Dilemma) คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย ไร้พลังอำนาจ (Powerless) ไร้ประโยชน์ หันไปทางไหน ก็เจอแต่ปัญหาทำนองว่าหนีเสือปะจระเข้ สอดคล้องกับหัวข้อโพลนี้คือ สภาเขาควาย เป็นสภาวะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงที่ผ่านมายังไม่ทำให้ประชาชนเห็นแสงสว่างทางออกของวิกฤตชาติโควิดและวิกฤตการเงินในกระเป๋าของประชาชน จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากฝ่ายการเมือง