นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ในส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.64 เป็นต้นไป โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบระบบปิด ตลอดเส้นทาง ซึ่งมีการควบคุมทางเข้า-ทางออกอย่างสมบูรณ์ ช่วยให้ผู้ใช้ทางสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งมีระบบการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ใช้เส้นทางตลอดเส้นทาง 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามโดยเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางที่จัดเก็บได้ทั้งหมด กรมทางหลวงจะนำฝากบัญชีเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งนำฝากไว้กับกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้บำรุงรักษาทาง สะพาน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกล้องวงจรปิด CCTV โทรศัพท์ฉุกเฉิน การให้บริการหน่วยกู้ภัย เป็นต้น รวมถึง การนำไปใช้ในการก่อสร้างขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์ในสายอื่นๆ ในอนาคต เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินและรักษาวินัยทางการเงินของภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมระบบโลจิสติกส์และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นต้นไป เฉพาะผู้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7ที่เดินทางผ่านส่วนต่อขยายช่วงพัทยา – มาบตาพุด จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่มขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จากกรุงเทพฯ ถึง มาบตาพุด (ด่านฯ อู่ตะเภา) จากเดิม 105 บาท เป็น 130 บาท หรือ จากพัทยา ถึง มาบตาพุด (ด่านฯ อู่ตะเภา) จากเดิมวิ่งฟรี จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทาง 30 บาท เป็นต้น
สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางตลอดเส้นทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ - บ้านฉาง ช่วงกรุงเทพฯ - ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นต้นไป แยกตามประเภทยานพาหนะได้ดังนี้ รถยนต์ 4 ล้อ 10-130 บาท, รถยนต์ 6 ล้อ 15-210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป 20-305 บาท โดยผู้ที่เดินทางสามารถเข้าออกได้ทุกด่าน อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ - บ้านฉาง เป็นหนึ่งในโครงข่ายสำคัญตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งทางถนน ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมโยง
สำหรับการขนส่งทั้งทางน้ำและทางอากาศ เชื่อมด่านการค้าชายแดนและพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก ตลอดจนการเดินทางระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นการแบ่งเบาปริมาณการจราจรจากทางหลวงสายหลัก ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมไปถึงภาคการส่งออกของประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน