โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
“จีนแดง” สำรวจ “ดาวแดง”
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2019 สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งยาน “ฉางเอ๋อ 4” ลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ถัดมาวันที่ 3 ธันวาคม 2020 จีนส่ง “ฉางเอ๋อ 5” ไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ได้อีกครั้ง พร้อมภารกิจเก็บตัวอย่างหินและดินกลับสู่โลก
ภาพ “ธงชาติจีน” ที่ปักลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ คือการประกาศศักดาด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีนที่ไม่ใช่แค่เป้าหมายปลายทาง แต่คือจุดเริ่มต้นแห่งการขยายอิทธิพลที่ไร้ขอบเขต
จีนวางยุทธศาสตร์อวกาศไว้ 3 ขั้น
ขั้นแรก สร้างเครือข่ายดาวเทียม “เป่ยโต่ว” (BDS) หรือระบบระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่สำเร็จสมบูรณ์เมื่อกลางปี 2020 สู้กับระบบ GPS ของอเมริกา
ขั้นสอง ตั้งสถานีอวกาศ “เทียนกง” ที่อยู่ในวงโคจรโลกอย่างถาวรภายในปี 2022
ขั้นสาม การสำรวจลึกในอวกาศ เช่น การส่งคนลงดวงจันทร์ การส่งยานลงจอดที่ดาวอังคาร
วันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ยาน “เทียนเวิ่น-1” ถูกส่งออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง บริเวณริมชายฝั่งมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เพื่อไปสำรวจดาวอังคาร มีกำหนดถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
เทียนเวิ่น-1 ไม่ใช่ความพยายามเดินทางสู่ดาวอังคารครั้งแรกของจีน ในปี 2009 จีนเคยจับมือกับ Roskosmos สำนักงานด้านอวกาศของรัสเซียในการส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร แต่จรวดของรัสเซียมีปัญหา ทำให้ยานไม่หลุดพ้นไปจากวงโคจรของโลก จีนจึงเลือกที่จะดำเนินโครงการต่อด้วยตัวเอง
ในระหว่างที่จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีของตนนั้น คู่แข่งสำคัญอย่าง “อินเดีย” ที่เวลานั้นเหนือกว่าในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ถือโอกาสชิงตัดหน้าด้วยการส่ง “มังคลายาน” ซึ่งเป็นยานอวกาศต้นทุนต่ำ ไปโคจรรอบดาวแดงได้สำเร็จเป็นชาติแรกของเอเชีย
ก่อนที่ยานเทียนเวิ่น-1 ของจีนจะไปถึง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 ยานอวกาศ HOPE ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เดินทางถึงดาวอังคารเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จเป็นชาติที่ 5 ของโลก ในภารกิจสำรวจดาวอังคาร (4 ชาติก่อนหน้าคือ สหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียด สำนักงานอวกาศยุโรป และอินเดีย)
ถัดมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) สหรัฐอเมริกา ได้ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร โดยมีภารกิจหลายปีในการเก็บรวบรวมตัวอย่างดินและหินเก็บส่งกลับมายังโลกภายในทศวรรษปี 2030
หลังโคจรอยู่รอบดาวอังคารได้ระยะหนึ่ง ช่วงเช้าวันเสาร์ 15 พฤษภาคม 2021 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยืนยันว่า ยานลงจอดพร้อมยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนได้ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ หลังเดินทางจากโลกถึงดาวอังคารเป็นระยะทาง 320 ล้านกิโลเมตรเป็นเวลา 7 เดือน
“เทียนเวิ่น” หมายถึง “คำถามต่อสรวงสวรรค์” มาจากบทกวีประพันธ์โดยชวีหยวน กวีจีนโบราณ (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล) ส่วนยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารชื่อ “จู้หรง” (Zhurong) หมายถึงเทพแห่งไฟตามตำนานจีนโบราณ พ้องกับ “หั่วซิง” หรือดาวแห่งไฟ ชื่อดาวอังคารในภาษาจีน
ยานสำรวจพื้นผิว “จู้หรง” เป็นยาน ขนาด 6 ล้อ น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีรูปลักษณ์คล้ายผีเสื้อสีน้ำเงิน และอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันดาวอังคาร (ราว 3 เดือนบนโลก)
หลี่ ชุนไหล รองหัวหน้าผู้ออกแบบภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน กล่าวว่า ภารกิจการสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ ไม่เพียงมุ่งตรวจสอบว่า มีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ แต่ยังเปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและกระแสการพัฒนาของโลกในอนาคต ตลอดจนตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ด้วย
พร้อมๆ กับความสำเร็จของการส่งยานสำรวจดาวอังคาร สำนักงานจัดการด้านอวกาศแห่งชาติจีน ได้ประกาศจับมือกับ Roskosmos สำนักงานด้านอวกาศของรัสเซีย ในการสร้างสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ โดยจะเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศและหุ้นส่วนระหว่างประเทศที่สนใจทั้งหมด ด้วยเป้าหมายเพื่อทำให้ความร่วมมือด้านการวิจัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมการสำรวจและใช้งานพื้นที่นอกโลกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ
ไม่เพียงเท่านั้น คณะนักวิทยาศาสตร์จีนยังกำลังประเมินความเป็นไปได้ของโครงการส่งยานอวกาศไปยัง “สุดขอบระบบสุริยะ” หรือไปให้ไกลสุดๆ
ภายในปี 2049 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน นักวิทยาศาสตร์จีนตั้งเป้าจะส่งยานอวกาศออกไปโคจรไกลเทียบเท่า 100 เท่าของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก หรือประมาณ 15,000 ล้านกิโลเมตร
ฝันที่น่าจะเป็นจริงสำหรับผู้ที่มีอายุยืนยาวพอจะได้เห็นคือ จีนจะพัฒนาให้มี “เที่ยวบินอวกาศ” นับพันเที่ยวบินต่อปี สำหรับบรรทุกสินค้าได้หลายหมื่นตันและบรรทุกผู้โดยสารให้ได้ภายในปี 2045 จะเพื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อท่องอวกาศก็คงไม่เกินความสามารถของจีน
ผู้ที่ติดตามศึกษาเรื่องจีนจะเห็นว่า แผนการต่างๆ ที่จีนวางไว้มักจะตรงตามเวลาที่กำหนด เพราะส่วนงานที่รับผิดชอบมีความมุ่งมั่น นโยบายของรัฐบาลมีความต่อเนื่องภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดังนั้น ปีหน้า 2022 โลกจะได้เห็น “สถานีอวกาศเทียนกง” ซึ่งจะเป็นสถานีอวกาศถาวรแห่งใหม่ของจีนที่จะโคจรอยู่รอบโลกในระดับความสูง 340-450 กิโลเมตร อีกอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ
ภาพจาก : https://www.xinhuathai.com/china/201246_20210515