#CSRcontent
โดย มนวิภา จูภิบาล : กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด
ใครกล้าการันตีชัดๆ จัดกำไรให้สังคม
สีสันของอินเดียไม่เคยน้อยหน้าใคร ลองเดินตลาดพื้นเมืองในอินเดียซักแห่ง ชีวิตใครที่กำลังหม่นหมอง ขาวดำ จะกระปรี้กระเปร่ามีสีสันขึ้นมาทันใด ช็อคกิ้งพิงค์ที่สุดจะพิงค์ เขียวแปร๊ดไม่มีปน เสียงคุยเร็วๆ รัวๆ ดนตรีที่ร้านเล็กๆ แข่งกันเปิด ทำให้ทั้งวัวทั้งคนบนถนนแคบๆ คึกคักทีเดียว มาวันนี้ เห็นภาพบนท้องถนนที่คนอินเดียส่วนหนึ่งต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ก็หวังว่า ด้วยการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งคนอินเดีย คนไทย และชาวโลก จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ในเร็ววัน
CSR ขององค์กรธุรกิจในอินเดียก็ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน อินเดียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อสังคม หรือ CSR (The Companies Act 2013, Section 135 ) เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชน จำกัด ทุกบริษัทที่มีกำไรสุทธิ Rs 500 Crore (5,000 ล้านรูปี หรือ 2,250 ล้านบาท หรือประมาณ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือมี turnover Rs 1000 Crore (10,000 ล้านรูปี หรือ 4,500 ล้านบาท หรือประมาณ 138 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต้องจัดสรรงบประมาณ 2% ของกำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้า สำหรับโครงการเพื่อสังคม เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนให้ดีขึ้น
ประเทศไทยก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ แต่ละบริษัทกำหนดงบประมาณไว้แตกต่างกัน บางบริษัทกล้าการันตีงบประมาณเพื่อสังคมในอนาคต เช่น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ชูนโยบายนำงบประมาณ 3% ของกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ทำโครงการ CSR เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนว่าบริษัทมีงบประมาณรองรับโครงการเพื่อสังคมเพียงพอและสม่ำเสมอทุกปี ขณะที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำหนดเป้าหมายการใช้งบประมาณ ปี 2563 – 2567 อย่างน้อย 1-3 % ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานสำหรับโครงการพัฒนาสังคม ผ่าน 2 แนวทางหลัก ได้แก่ People (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชนและสังคม) และ Planet (การส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
กฎหมายได้ทํางานตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ประชาชนอินเดียมีความหวังว่า กฎหมาย CSR จะช่วยให้องค์กรธุรกิจเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังในเรื่องที่เป็นปัญหาท้าทาย เช่น คนอินเดีย 75 ล้านคน ยังไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างพอเพียง กฎหมายได้แนะแนวทาง CSR ไว้ด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนและหิวโหย ความเสมอภาคทางเพศ การเพิ่มขีดความสามารถของสตรี การดูแลสิ่งแวดล้อม ในระยะแรกมีบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์บังคับของกฎหมายเพียง 16,000 -17,000 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 600,000 บริษัทในอินเดีย และการประเมินงบประมาณสำหรับ CSR ของแต่ละบริษัทก็แตกต่างกันมากตั้งแต่ 1.5 จนถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากบทความของ Devex, Venkatesh Kumar, Director of the Tata Institute of Social Sciences ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า “มีบางบริษัททําได้ดีเป็นพิเศษ บางบริษัทไม่เข้าใจแนวคิดของ CSR และอาจไม่ได้ทําในแบบที่ควรทํา และหลายบริษัทเลือกใช้รูปแบบ CSR ที่ง่ายที่สุดตามงบประมาณที่เขาต้องจ่าย นั่นคือ การลงทุนในโครงการ CSR ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์แห่งชาติ หรือการสร้างห้องสุขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ภารกิจ Clean India (Swachh Bharat Abhiyan)”
CSR สร้างคุณค่าแก่สังคมแค่ไหน ภารกิจ Clean India (ระยะที่ 1 : 2 ตุลาคม 2557- 2 ตุลาคม 2562) บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม ตามที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที (Narendra Modi )ได้กล่าวกับประชาชนว่า "อินเดียที่สะอาดจะเป็นเครื่องบรรณาการที่ดีที่สุดที่สามารถมอบให้ท่านมหาตมะ คานธี ในวันครบรอบวันเกิด 150 ปี ในปี 2562” Clean India ยังช่วยสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มชนชั้นล่างว่า รัฐบาลไม่เพียงแต่สนับสนุนธุรกิจเอกชน หากแต่ได้ปฏิรูปประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนอินเดียทุกกลุ่มทุกฝ่าย ความสำเร็จครั้งนี้มิใช่เพียงการก่อสร้างห้องสุขาทั่วอินเดีย หากแต่ความยิ่งใหญ่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงความเชื่อและพฤติกรรมของคน ที่ส่งผลต่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของคนทั้งประเทศและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเด็ก อีกทั้งสิ่งสกปรกยังทำให้สูญเสียนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจํานวนมาก ในภารกิจนี้ ศาสตราจารย์ Val Curtis จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ยืนยันว่า “พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้มีอํานาจตัดสินใจ มีความสําคัญพอๆ กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เห็นในระดับชุมชน”
ภายใต้ความสำเร็จนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ การสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อ การยอมรับ และมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ออกมายกย่องผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียเสมอ มีแคมเปญมากมาย อาทิ #MyCleanIndia หรือ “Cleanliness is next to Godliness” นายกรัฐมนตรีได้ขอให้พลเมืองอินเดียทุกคนอุทิศเวลา 100 ชั่วโมงต่อปีหรือประมาณสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทํางานด้านความสะอาดโดยสมัครใจ ขณะที่รัฐบาลเองจะใช้จ่ายมากกว่า 62,000 ล้านรูปี ในโครงการสร้างห้องสุขา เป็นต้น
ในภาคธุรกิจ Dr.Shivakumar ประธานและซีอีโอของ PepsiCo India กล่าวว่า “อินเดียที่สะอาดกว่าจะนําไปสู่การปรับปรุงสุขภาพของประเทศในหลายระดับ” Ajay Chandra กรรมการผู้จัดการของ Unitech ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า “ความสะอาดไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่ยังเกี่ยวกับการบ่มเพาะความรู้สึกพลเมืองด้วย” และเมื่อภารกิจ Clean India ระยะที่ 1 สำเร็จ รัฐบาลอินเดียได้วางโปรแกรมสุขาภิบาลที่เหลือในระยะต่อไป รวมทั้งยังดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า ครัวเรือนที่เพิ่งยอมรับบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ จะไม่กลับไปใช้ห้องน้ำแบบเปิดอย่างเดิมอีก เพื่อให้ผลของภารกิจ Clean India เป็นประโยชน์ต่อไปได้อย่างยั่งยืน