โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
G7 รวมพลต้านจีน
Group of Seven หรือ G 7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี แคนาดา และญี่ปุ่น เคยเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่นอกจากจะครอบครองความมั่งคั่งไว้ในมือแล้ว ยังร่วมกันกำหนดชะตากรรมโลกโดยอ้างเหตุผลต่างๆ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประเทศยากจน ส่งเสริมการค้าเสรี คุ้มครองสภาพแวดล้อมโลก ฯลฯ
แต่โดยเนื้อแท้ของกลุ่ม G7 คือ ต้องการจัดระเบียบโลกด้วยกฎกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของกลุ่มเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสูบทรัพยากรและตักตวงผลประโยชน์จากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่มีพลังต่อรอง หรือถูกบีบบังคับด้วยกฏกติกาที่มหาอำนาจทั้ง 7 ร่วมกันกำหนดฝ่ายเดียว
นับจาก ค.ศ.1975 อันเป็นปีก่อตั้ง ต้องยอมรับว่าช่วง 3-4 ทศวรรษแรกที่ 7 ชาติพันธมิตร อาศัยเวทีนี้สร้างบทบาทของกลุ่มตนในการเป็นผู้กำกับทิศทางการพัฒนาของโลก ทำให้ชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ ยังคงความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งด้านการค้าและการลงทุน
แต่ในยุคปัจจุบันที่โลกรู้เท่าทันนี่ไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะบทบาทความเป็นผู้นำกลุ่มของสหรัฐอเมริกาที่ถูกโดนัลด์ ทรัมป์ เอาเท้าขยี้ทิ้งในช่วง 4 ปีที่นั่งทำเนียบขาว ด้วยนโยบาย America First แสดงความเป็น “ทุนนิยมเห็นแก่ได้” ไม่สนใจกฎกติกาสากลนอกจากผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาฝ่ายเดียว จนทำเอา G 7 แทบวงแตก และทำให้สมาชิกหลายชาติเปลี่ยนท่าทีหันไปคบค้าสมาคมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่แสดงความมิตรมากกว่า
การที่โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดสงครามการค้ากับจีน ก็เพราะอเมริการู้ตัวว่า จีนกำลังหายใจรดต้นคอ นอกจากอเมริกาทำการค้าสู้จีนไม่ได้จนเสียเปรียบดุลการค้ามหาศาลแล้ว เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายของจีนกำลังจะแซงหน้าจนต้องหาเรื่องเล่นงาน “หัวเว่ย” และสกัด 5G ของจีน กองทัพจีนมีอาวุธทันสมัยและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนกล้าท้าทายกองทัพอเมริกา
แต่เรื่องที่เกินหน้าเกินตาอเมริกาไปมากจนนิ่งเฉยไม่ได้คือ โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนเสนออภิมหาโครงการต่อนานาชาติในการร่วมกันพัฒนาระบบการขนส่งคมนาคมเชื่อมทวีป เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและคนอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน
ช่วง 8 ปีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดโครงการ BRI ต่อชาวโลก วันนี้มีมากกว่า 100 ประเทศที่รวมลงนามข้อตกลงกับจีนในโครงการต่างๆ มากว่า 2,600 โครงการ รวมมูลค่าก่า 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
โลกวันนี้ต้องการสินค้าจากจีนที่มีคุณภาพทัดเทียมการผลิตมาตรฐานสากลและราคาย่อมเยากว่า ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าครองชีพ โลกวันนี้ต้องการนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ชาติอื่น มหาวิทยาลัยหลายแห่งเลี้ยงตัวได้เพราะอาศัยนักศึกษาจีนที่บุกไปเรียนทั่วโลก โรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกพอใจที่จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยราคาไม่แพงจากจีน ส่วนผู้ที่ต้องการส่งสินค้าไปขายหรือแสวงหาแหล่งลงทุน ก็เล็งจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก
การประชุมกลุ่ม G7 เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประเทศอังกฤษ มีวาระพูดคุยเรื่องการลดบทบาทจีนในเวทีโลก แต่เพราะสมาชิกหลายชาติยังต้องการคบค้ากับจีน หรือพูดง่ายๆ ว่า เลิกเชื่อฟังอเมริกาเหมือนสมัยก่อน มติที่ประชุมจึงออกมาในรูปที่โจ ไบเดน เป็นผู้ชงขึ้นมา คือแผนการ "สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่" (Build Back Better World - B3W) โดยต้องการให้นานาชาติมีทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่าโครงการ BRI ของจีน
B3W ของ G7 มีเป้าหมายจะแข่งกับจีนเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่องวิกฤตสภาวะอากาศ ความมั่นคงทางสุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และความเท่าเทียมทางเพศและความเสมอภาค โดยตั้งวงเงินไว้ประมาณ 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,245 ล้านล้านบาท ถึงปี 2035 ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกากับอังกฤษจะเป็นเจ้ามือหลัก
อีกเรื่องที่ G7 จะซื้อใจชาวโลกแข่งกับจีนคือ การประกาศบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แก่ประเทศยากจน จำนวน 1,000 ล้านโดส ภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยพี่ใหญ่สหรัฐฯ จะให้ 500 ล้านโดส อังกฤษ 100 ล้านโดส แคนาดา 100 ล้านโดส
การตั้งกองทุน B3W เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริจาควัคซีนสู้โควิด-19 ล้วนเป็นเรื่องดีแม้จะมีเจตนาอันแท้จริงในการลดบทบาทจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกนักวิชาการทั่วโลกวิจารณ์ว่า เป็นอะไรที่ช้าเกินการณ์ เพราะ BRI ของจีนเดินหน้ามา 8 ปีแล้ว จนบางโครงการ เช่น รถไฟจีน-ลาว จะเปิดวิ่งในปลายปีนี้ หรือกรณีบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดส ฟังดูมากมหาศาล แต่หากจะสกัดโควิด-19 ในยามนี้ โลกต้อง 10 เท่า หรือประมาณ 11,000 ล้านโดสอย่างเร่งด่วน และทั้งสองเรื่องก็เหมือนสัญญาลมๆ แล้งๆ ที่โลกไม่อาจหวังผล
วันนี้สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ศูนย์กลางโลกเหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 7 ทศวรรษแล้ว เพราะอเมริกาเองก็มีปัญหาของตัวเองมากมาย เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก แต่เจอโควิด-19 ตายไปกว่า 6 แสนคน เศรษฐกิจดิ่งเหว คนตกงานหลายสิบล้านคน ภาพชาวอเมริกันนับร้อยนับพันคน ยึดฟุตบาทเป็นที่พักพิงเพราะเป็นคนไร้บ้าน
สมาชิกอื่นๆ ของ G7 ก็ใช่ว่าเศรษฐกิจดีเหมือนยุคก่อน อังกฤษเจอโควิด-19 ตายไปกว่า 1.2 แสนคน แม้สถานการณ์จะเบาลง แต่ยังหวั่นว่าจะเจอระลอกใหม่ วันนี้ยังต้องล็อคดาวน์ต่อไปถึงเดือนกรกฎาคม อิตาลี ยอดตายใกล้เคียงอังกฤษที่ 1.2 แสนคน ช่วงวิกฤติหนักระบบสาธารณสุขล่มต้องรับความช่วยเหลืออุปกรณ์ด้านการแพทย์จากจีน จนวันนี้ต้องสงวนท่าทีในการเป็นปฏิปักษ์กับจีน
เยอรมนีที่ว่าเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในยุโรป ยอดตาย 9 หมื่นคน ปี 2020 การบริโภคหดตัวในรอบ 70 ปี หรือญี่ปุ่นที่เป็นชาติเอเชียหนึ่งเดียวใน G7 เศรษฐกิจก็ย่ำแย่มานานปี ในปี 2020 เศรษฐกิจหดตัวถึง 4.8% ยอดตายจากโควิด-19 รวม 1.4 หมื่นคน ถึงวันนี้ก็ยังล็อคดาวน์ไม่เลิก
สรุปแล้ว G7 วันนี้ก็แค่เครื่องมือของโจ ไบเดน ในการรักษาหน้าตาความเป็นผู้นำโลก เป็นการเพรียกหาอดีตอันยิ่งใหญ่ แต่คงทำได้แค่ชะลอความเสื่อมถอยตามกาลเวลา