นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 ให้มีภาระหนี้ลดลงและสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านกลไกการรับโอนสินทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมให้สิทธิซื้อทรัพย์คืน และต่อมา ครม. ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้อีกด้วย
สอดรับมติครม.ดังกล่าว กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ และได้มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีแก่สถาบันการเงินและลูกหนี้ธุรกิจที่ร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” คาดว่าจะมีผลให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระภาษี เป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้และสถาบันการเงิน อีกทั้งสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆได้เพิ่มขึ้น และสำหรับภาคการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้มีมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ(บุคคล/นิติบุคคล) สหกรณ์ภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม บริการ และธุรกิจเกษตร ที่มีหนี้เงินกู้หรือมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงิน ก่อน 1 มี.ค.64 ผู้สนใจสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
ในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู นางสาวรัชดา กล่าวว่า จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอดการปล่อยสินเชื่อทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ วันที่ 19 ก.ค. มียอดรวมทั้งสิ้น 7.8 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 2.5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งทาง ธปท.วิเคราะห์ว่า การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเป็นตามเป้าหมายร่วมของธปท.และสมาคมธนาคารไทยที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนต.ค.นี้ อีกทั้งสินเชื่อมีการกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค จำนวน 46% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ขณะที่ 68% อยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด
รองโฆษกรัฐบาล ยังเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือต่างๆที่ได้ออกมาโดยตลอด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยประเมินผลการดำเนินงาน และรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนผ่านการหารือในหลายวาระด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 ต่อไป