ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
Perfect World
17 ต.ค. 2564

#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

Perfect World

Perfect World - ปาฏิหารย์โลกใบนี้ที่มีเธอ (2019) ซีรีส์ญี่ปุ่นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการ คนที่อยู่ร่วมกับผู้พิการและสังคมรอบตัวผู้พิการ ทั้งการดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน กีฬา การดูแลอารมณ์และจิตใจ การเลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระและการยอมรับของคนที่ทำงานและชุมชน พลอตเรื่องคือ นางเอกแอบรักพระเอกตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย จนพระเอกประสบอุบัติเหตุกลายเป็นคนพิการช่วงล่าง ทั้งคู่มาเจอกันหลังจากผ่านไปหลายปี และสานความสัมพันธ์กัน ท่ามกลางอุปสรรคจากครอบครัวและความยากในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันจากบริบทของความพิการ

ความเชื่อ ความมุ่งมั่น และการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 73 ล้านคนทั่วโลก จะกลายเป็นจุดกำเนิดของพาราลิมปิก เกมส์ ที่มอบทั้งความสุขและความหวังให้ผู้สิ้นหวัง ในปี 1939 เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันลี้ภัยจากนาซีไปยังประเทศอังกฤษ และในปี 1943 เขาได้ก่อตั้งศูนย์รักษากระดูกสันหลังแห่งชาติขึ้นที่โรงพยาบาล สโต๊ค แมนเดอวิลล์ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อรองรับทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม

กุตต์มานน์ เป็นผู้ที่มีความเชื่อในพลังของกีฬาอย่างแรงกล้าและมั่นใจว่า กีฬาเป็นกระบวนการฟื้นฟูที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ทุพพลภาพเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายและสร้างความเคารพในตัวเอง เขาจึงสนับสนุนให้ผู้ป่วยเล่นกีฬาควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ ต่อมาพัฒนาไปเป็นการแข่งขันกีฬาคนพิการ สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ ครั้งแรกในปี 1948 และขยายขอบเขตให้มีความเป็นสากลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 1960 ได้ย้ายไปแข่งที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี นับเป็นพาราลิมปิก เกมส์ สมัยแรก

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเป็นประเทศที่ปลอดอุปสรรคสำหรับคนพิการ นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันพาราลิมปิกในปี 2013 และล่าสุดในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโตเกียวพาราลิมปิก 2020 ญี่ปุ่นรับปากว่า จะทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงศูนย์กลางการขนส่งแห่งต่างๆ ของประเทศได้ 100% ปัจจุบันคนพิการสามารถใช้บริการสถานีรถไฟในกรุงโตเกียวได้ประมาณ 96% หลังจากผ่านกฎหมายที่กำหนดให้สถานีที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 3,000 คน ต้องเป็นสถานีที่ใครก็ตามสามารถใช้บริการได้  

นอกจากเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมแล้ว ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของผู้พิการคือเรื่องการทำงาน ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs17) ที่จะต้องทำให้สำเร็จในปี 2030 นั้น ประเด็นเรื่องการจ้างงานผู้พิการอยู่ในเป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และงานที่ดีสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม การจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มลดต่ำลงทั่วโลก แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหากันในหลายวิธีก็ตา, ระบบโควตาเป็นวิธีหนึ่งซึ่งญี่ปุ่นใช้ ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีความเห็นว่า วิธีนี้ให้ความสำคัญกับความพิการมากกว่าทักษะที่เหมาะกับการทำงาน และยังละเลยประเด็นเรื่องการเปิดกว้างยอมรับ การได้งานที่เหมาะกับความรู้ความสามารถของผู้พิการแต่ละคนน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เช่น BBC ได้สัมภาษณ์ผู้พิการคนหนึ่งในโตเกียว ซึ่งทำงานที่ Google เธอรู้สึกพอใจว่า ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกถามเกี่ยวกับการเป็นคนพิการเลย ผู้พิการไทยก็น่าจะได้รับโอกาสให้ได้ทำงานในลักษณะนี้เช่นกัน   

รัฐบาลไทยมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐรับผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยมีกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ต้องจ้างงานในอัตราส่วน แรงงานทั่วไป 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน หากปฏิบัติตามมาตรา 33 ไม่ได้ ก็ให้ใช้ มาตรา 34 ให้สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน หรือมาตรา 35 ที่ให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐจัดสัมปทานใดๆ ใน 7 เรื่อง อาทิ จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นต้น

นอกจากองค์กรธุรกิจจะปฏิบัติตามกฎหมายและข้อสัญญาต่างๆ แล้ว การทำ CSR เพื่อสนับสนุนผู้พิการก็เป็นเรื่องที่สร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ตัวอย่างเช่น มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มีพันธกิจในการจัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาด ทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า มีการออกหน่วยทำขาเทียมในพื้นที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ พัฒนาบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ และค้นคว้า วิจัย และพัฒนาคุณภาพขาเทียม เป็นต้น งานของมูลนิธิขาเทียมฯ มีความละเอียดมาก เพราะต้องทำแต่ละชิ้นให้เหมาะกับผู้พิการแต่ละคน ถ้าเป็นเด็กก็จะต้องเปลี่ยนขากันทุกปีตามการเจริญเติบโต ต้องใช้องค์ความรู้ทั้งทางแพทย์และวิศวกรรมควบคู่กัน  

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมวิจัยกับมูลนิธิขาเทียมฯ มาเป็นเวลา 10 ปี และบริจาคเม็ดพลาสติกกว่า 20 ตัน ใช้ผลิตขาเทียมได้กว่า 2 หมื่นขา ในปี 2563 การวิจัยทำให้ได้เม็ดพลาสติก Polypropylene Copolymer 3340H ที่มีคุณสมบัติโปร่งแสง ยืดหยุ่นและเรียบลื่น เหมาะกับการนำไปผลิตเบ้าขาเทียม ทำให้มองเห็นเบ้าขาด้านในขณะทดลองสวมใส่ จึงสามารถปรับแต่งให้พอดีมากยิ่งขึ้น สำหรับมูลนิธิขาเทียมฯ นอกจากจะรับบริจาคเงินและเม็ดพลาสติกแล้ว ยังรับบริจาคถุงน่องที่ใช้แล้วจำนวนมากเพื่อมาทำเบ้าขาเทียม และเศษชิ้นส่วนอลูมิเนียมเพื่อนำไปขาย ผู้พิการที่ต้องการทำขาเทียม หรือผู้ที่ประสงค์จะสนับสนุน ติดต่อมูลนิธิฯ ได้ที่ 0 5311 2271-3

ในเวทีโลก CEO องค์กรยักษ์ใหญ่ 500 ราย ได้ผนึกกำลังสร้างชุมชนธุรกิจเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคของผู้พิการที่ใหญ่ที่สุดในโลก The Valuable 500 กระตุ้นให้ CEO จากบริษัทต่างๆ บรรจุเรื่องความเท่าเทียมของผู้พิการไว้ในวาระสำคัญของบริษัท และผลักดันออกมาเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม สมาชิกของกลุ่มมีรายได้รวมกันกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ มีพนักงานรวมกันกว่า 20 ล้านคน ใน 36 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงและอิทธิพลของแคมเปญนี้

รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (UN Convention on the rights of persons with disabilities : CRPD) โดยนางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติวาระปี 2564-2567 วันนี้ คนไทยโดยเฉพาะผู้พิการควรคาดหวังได้แล้วว่า รัฐบาลไทยจะส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของคนพิการบนพื้นฐานของความเท่าเทียมอย่างจริงจังตามที่นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นไว้  "จะพลิกโฉมประเทศไทย"โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สร้าง Perfect World สังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนและผู้ขาดโอกาสได้เข้าถึงเท่าเทียมกัน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...